🔴 มท.1 ส่งสารชื่นชม “ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน” ครบรอบ 50 ปี

 

มท.1 ส่งสารเนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี “ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน” ชื่นชมเป็นกำลังสำคัญบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน ด้าน “อพช.” ปลุกพลังจิตอาสา สร้างสุขสู่ชุมชน บนพื้นฐานแห่งความพอเพียง
พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีสารเนื่องในวาระครอบรอบ 50 ปี ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน วันที่ 28 มกราคม 2562 ระบุว่า “พี่น้องอาสาพัฒนาชุมชนและผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนทุกท่าน เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี โครงการพัฒนาผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน ผมขอส่งความปราถนาดีและขอแสดงความชื่นชมอย่างจริงใจมายังทุกท่านที่ได้ทุ่มเท เสียสละ ทั้งแรงกาย แรงใจ ในการทำงานเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน ตำบลของตนเองอาสาพัฒนาชุมชนและผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน ถือเป็นกำลังอันสำคัญในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชน มาเป็นระยะเวลายาวนาน 50 ปี”
ขณะที่ นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่ากรมฯได้กำหนดดำเนินโครงการพัฒนาผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนขึ้นมา โดยคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2512 และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยได้ค้นหาประชาชนที่มีจิตอาสา เข้ามาเป็นอาสาพัฒนาชุมชน (อช.) หมู่บ้านละไม่น้อยกว่า 4 คน ในสัดส่วนชายหญิงที่ใกล้เคียงกัน และผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) ตำบลละ 2 คน (ชาย 1 คน หญิง 1 คน) โดยในปัจจุบันมีผู้นำอช. จำนวน 13,500 คน และ อช. มากกว่า 300,000 คน ในการทำหน้าที่ขับเคลื่อนกิจกรรมพัฒนาชุมชนต่าง ๆ โดยมีระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการอาสาพัฒนาชุมชน พ.ศ.2547 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2555รองรับการปฏิบัติงาน
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่าในปี 2562 กรมฯ ได้มอบหมายภารกิจเน้นหนักให้ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) และอาสาพัฒนาชุมชน (อช.) เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตครัวเรือนที่ตกเกณฑ์ จปฐ. ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยกรมฯ ได้กำหนดแนวทางเพื่อพัฒนาศักยภาพของ อช. และผู้นำ อช. ด้วยการจัดทำฐานข้อมูลอาสาพัฒนาชุมชนเพื่อการบริหารจัดเก็บและใช้ประโยชน์ให้ถูกต้อง ครบถ้วนและเป็นปัจจุบันการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้กับผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนให้มีการฝึกอบรมเพิ่มทักษะความสามารถด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการเป็นวิทยากรกระบวนการ หรือวิทยากรสัมมาชีพชุมชน รวมไปถึงการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ร่วมกับสมาคม/ชมรมผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนระดับจังหวัด/อำเภอ เพื่อติดตามให้คำแนะนำ คำปรึกษาแก่ อช. และผู้นำ อช.ในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานแก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่
เนื่องในวาระครบรอบการดำเนินงานโครงการพัฒนาผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน ปีที่ 50 ในวันที่ 28 มกราคม 2562กรมฯ ได้น้อมนำพระบรมราโชบาย และพระกระแสรับสั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งพระองค์ทรงห่วงใยและทรงคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นสำคัญ และพระองค์มีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทำให้ประเทศชาติมั่นคงและประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีพระราชประสงค์ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและแนวพระราชดำริต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน และพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า โดยกำหนดจัดกิจกรรมตลอดเดือนมกราคม โดยเฉพาะในวันที่ 28 มกราคมภายใต้แนวคิด “พลัง อช. จิตอาสา สร้างสุขสู่ชุมชน บนพื้นฐานแห่งความพอเพียง”อาทิ การจัดกิจกรรมทางศาสนา การแสดงพลังอาสาพัฒนาชุมชน (การร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และกล่าวคำปฏิญาณตนเพื่อสานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร) การอ่านสารรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การจัดนิทรรศการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานของ อช./ผู้นำ อช.การจัดเวทีสัมมนาทางวิชาการการมอบประกาศเกียรติคุณแก่ อช. /ผู้นำ อช. ที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี 2561การจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์และกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ เป็นต้น
ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ทั้งผู้นำ อช.และ อช. นับเป็นบุคคลที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสามารถ และมีจิตใจเสียสละในการทำงาน เพื่อพัฒนาหมู่บ้าน/ตำบลของตนเอง เป็นกำลังสำคัญในการทำงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกรมการพัฒนาชุมชน มาอย่างต่อเนื่อง เป็นดั่ง “นักพัฒนาภาคประชาชน” หรือ “เพื่อนคู่คิดของพัฒนากร” โดยที่ผ่านมา ได้สร้างผลงานไว้มากมายร่วมกับชุมชน ซึ่งนี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อาสาพัฒนาชุมชน สามารถยืนหยัดทำงานอยู่ในชุมชนได้จนกระทั่งบัดนี้ และที่สำคัญ บุคลากรของกรมการพัฒนาชุมชนทุกคน พร้อมเสมอที่จะก้าวเดินเคียงข้างไปกับชาวอาสาพัฒนาชุมชนทุกคนตลอดไป
ในโอกาสนี้ ผมขอให้พี่น้อง อช. และผู้นำ อช. ได้ยึดแนวทางในการพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง ร่วมกันสร้างความสุขให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะการช่วยเหลือครัวเรือนยากจนให้ลุกขึ้นมาประกอบอาชีพเลี้ยงตนเอง ตามแนวคิด “ช่วยเพื่อให้เขาช่วยตัวเอง” อย่างมีเกียรติและมีศักดิ์ศรี โดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นรายครัวเรือน ด้วยแนวทาง 4 กระบวนงาน คือ ชี้เป้าชีวิต แผนที่ชีวิต บริหารจัดการชีวิต และดูแลชีวิต และที่สำคัญขอให้ทุกท่านได้ร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานในการบำเพ็ญตนเป็นผู้ให้ ร่วมกันน้อมนำแนวทางจิตอาสาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ตามโครงการจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” มาขยายผลและต่อยอดในการสร้างจิตสำนึกสาธารณะให้กับทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวางต่อไป”อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *