ระหว่างวันที่ 25 – 26 กรกฎาคม 2563 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกรมการท่องเที่ยว, ธนาคารออมสิน , Local Alike และทีมผู้เข้าแข่งขันทางการตลาด ทีมคุณวันท์นพัช ผดุงเทียนPenguin 2FLY ลงพื้นที่ “บ้านแม่กำปอง” จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในรายชื่อชุมชนที่ได้รับการเสนอชื่อสูงสุดสุดยอดหมู่บ้านใน โครงการประกวดสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท (Thailand Rural Tourism Awards 2020)สาขาหมู่บ้านท่องเที่ยวโฮมสเตย์ (Best Homestay) โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ 40 องค์กร จัดประกวดขึ้น วัตถุประสงค์เพื่อประเมินและคัดเลือกสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท ยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวชุมชนในระดับประเทศโดยชุมชนของประเทศไทย ส่งเสริมด้านการตลาด สร้างความเชื่อมั่น และสร้างการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย มุ่งหวังพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
“บ้านแม่กำปอง” จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในรายชื่อชุมชนที่เข้ารอบสุดท้ายในการประกวดสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท สาขาหมู่บ้านท่องเที่ยวโฮมสเตย์ (Best Homestay) ในโครงการประกวดสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท (Thailand Rural Tourism Awards 2020) “บ้านแม่กำปอง” อยู่ในกิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่สูง มีภูมิประเทศที่สวยงาม มีพื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่โอบล้อมไปด้วยภูเขา ป่า น้ำตก มีลำธารน้ำไหลพาดผ่านหมู่บ้านสร้างความชุ่มชื้นสดชื่นเย็นสบาย อากาศบริสุทธิ์ มีต้นเฟิร์น กล้วยไม้ และตะไคร่น้ำขึ้นอยู่ทั่วไป อีกทั้งที่นี่ยังเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบโฮมสเตย์ มีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและยังคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไว้ คือการเก็บใบเหมี้ยงจากป่านำมาหมักเพื่อส่งจำหน่ายเป็นอาชีพอีกด้วย
บ้านแม่กำปอง สามารถเที่ยวแบบค้างคืนพักผ่อนนอนโฮมสเตย์ในบรรยากาศสบายๆ มีให้เลือกพักหลายแห่งหรือจะเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับก็สามารถเที่ยวได้ นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่อยู่ไม่ไกลสามารถเดินเล่นชิล ๆ ได้ ถนนหนทางลาดยางเทคอนกรีตอย่างดีมีร้านค้าที่พักและมุมสวย ๆ ให้ได้ถ่ายภาพเซลฟี่เช็คอินมากมาย หรือจะใช้บริการรถสองแถวของหมู่บ้านก็สะดวกสบาย “บ้านแม่กำปอง” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบโฮมสเตย์ยอดฮิตที่นักท่องเที่ยวนิยมมาท่องเที่ยวไม่ขาดสายตลอดทั้งปี
สำหรับกิจกรรมในการลงพื้นประเมิน “บ้านแม่กำปอง” จ.เชียงใหม่ วันแรกคณะเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ออกมาราว 50 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที ถึงชุมชนบ้านแม่กำปอง ได้รับการต้อนรับจากพ่อหลวง ผู้นำชุมชน และเจ้าบ้านที่พักโฮมสเตย์ และร่วมกิจกรรมในวันแรก
โดยผู้นำหมู่บ้านและผู้สื่อความหมายในชุมชนได้นำชม “วัดกันธาพฤกษา” หรือ “วัดแม่กำปอง” เป็นวัดเดียวในหมู่บ้านแม่กำปองที่สร้างมาในยุคเดียวกับการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชุมชนกว่าร้อยปี วัดมีความงดงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบล้านนา วิหารหลังเก่าเป็นไม้ทั้งหลังแกะสลักลวดลายงดงาม ตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เข้าไปไหว้พระในพระอุโบสถหลังเก่า และชมพระอุโบสถกลางน้ำซึ่งตั้งอยู่กลางลำธารสวยงาม ท่ามกลางธรรมชาติที่เขียวขจีอากาศเย็นสบาย
ต่อด้วยกิจกรรมพ่อหลวงและผู้นำชุมชนนำชม “พิพิธภัณฑ์เหมี้ยง” ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ในหมู่บ้านเพื่อให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวและผู้สนใจ ภายในพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตชาวบ้านแม่กำปองที่ยึดอาชีพดั้งเดิม คือการเก็บใบเหมี้ยงจากป่าและนำมาหมักเพื่อส่งจำหน่าย ที่บ้านแม่กำปองมีต้นเหมี้ยงขึ้นอยู่ตามธรรมชาติมาหลายชั่วอายุคน ชาวบ้านในหมู่บ้านยังคงอนุรักษ์ต้นเหมี้ยงและการทำเหมี้ยงแบบดั้งเดิมไว้ ซึ่งยังมีหลายครัวเรือนที่ยึดเป็นอาชีพหลัก
ทั้งนี้คณะยังได้ร่วมกิจกรรมทำ หมอนสมุนไพรใบชา (ใบเหมี้ยง) ซึ่งเป็นของฝากของที่ระลึกอันขึ้นชื่อของหมู่บ้าน และเดินชมตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือถนนคนเดิน อุดหนุนสินค้าชุมชนกระจายรายได้สู่ชุมชน
ก่อนไปรับประทานอาหารมื้อเที่ยงที่ร้าน “เฮือนกาแฟ” ที่อยู่ภายในหมู่บ้าน โดยที่ร้านจะเสิร์ฟอาหารพื้นถิ่นทางภาคเหนือให้ได้รับประทาน และมีการนำใบเมี้ยงมาประกอบอาหารอีกด้วย เช่น ใบเมี้ยงชุบแป้งทอดเป็นต้น
ในช่วงบ่ายพ่อหลวงได้พาคณะฯ ชม เครื่องจักสาน และทำกิจกรรมเดินป่าศึกษาเส้นทางธรรมชาติชม “น้ำตกแม่กำปอง” มีความสูงถึง 7 ชั้น มีต้นน้ำเป็นแหล่งกำเนิดของประปาหมู่บ้านแม่กำปองที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้นจากนั้นเดินชมสาธิตการเก็บใบเหมี้ยง ใบชา และต้นกาแฟ ชมตาน้ำที่อยู่ในบริเวณต้นไม้ป่าที่ใหญ่ที่สุดในชุมชน
ก่อนปิดท้ายสำหรับวันแรกด้วยกิจกรรมช่วงเย็น ด้วยพิธีต้อนรับ “บายศรีสู่ขวัญ” จากหมอขวัญประจำหมู่บ้าน และร่วมรับประทานอาหารเย็นแบบขันโตก โดยมีเมนูอาหารพื้นถิ่นของชุมชน อาทิ แกงแค น้ำพริก ผักสด หน่อไม้ แคบหมู ไข่ป่าม และ เมนูพิเศษโดยนำเนื้อปลาดอลลี่ใส่เมล็ดกาแฟ ห่อด้วยใบเหมี้ยงและนำไปนึ่งหรือย่างให้สุก สร้างสรรค์รสชาติที่อร่อยแปลกใหม่ให้ได้ลิ้มลองอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีการแสดงดนตรีพื้นเมือง สะล้อ ซอ ซึง การแสดงฟ้อนรำของเยาวชนที่งดงามอ่อนช้อยให้ชมระหว่างมื้ออาหาร สร้างบรรยากาศผ่อนคลายสบายๆ ล้อมวงสนทนาทักทายปิดท้ายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และคำแนะนำจากคณะกรรมการและการให้ข้อมูลของชุมชนจากผู้นำชุมชน
กิจกรรมวันที่สอง รับอรุณด้วยการทำบุญตักบาตรเช้าที่วัดคันธาพฤกษาแม่กำปอง โดยเจ้าของบ้านโฮมเสตย์จะจัดเตรียมสิ่งของต่างๆ ในการทำบุญไว้ให้คณะเพื่อนำไปใส่บาตรที่วัดซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านพัก ก่อนจะเดินกลับไปรับประทานอาหารเช้าที่บ้านพักโฮมสเตย์ โดยเจ้าของโฮมสเตย์ที่พักจะทำอาหารจัดเตรียมไว้ให้ผู้มาพัก
หลังอาหารเช้าออกเดินทางด้วยรถสองแถวของหมู่บ้านขึ้นไปชมวิวทิวทัศน์ที่ “กิ่วฝิ่น” ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่สวยงาม เลยน้ำตกแม่กำปองไป 2 กิโลเมตร ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,517 เมตร ต้องเดินเท้าต่อขึ้นไปอีก 200 เมตร ไปยังจุดชมวิวกิ่วฝิ่น ถึงแม้จะมีฝนตกในช่วงที่เดินทางไปแต่ที่นี่ก็ยังมีความงดงามตามธรรมชาติให้ได้ชมท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายลงมาทำให้อากาศเย็นสบาย
จากนั้นไปเรียนรู้เรื่อง กาแฟแม่กำปอง ซึ่งบ้านแม่กำปองเป็นแหล่งปลูกกาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์ดี ชมขั้นตอนวิธีการคั่วการแฟจาก นายธีรเมศร์ ขจรพัฒนภิรมย์ อดีตพ่อหลวงบ้านแม่กำปอง จิบกาแฟและชิมวุ้นกาแฟที่อร่อยน้ำตาลน้อยไม่หวานมาก ก่อนกลับไปรับประทานอาหารพื้นถิ่นมื้อเที่ยงที่ร้าน “เฮือนกาแฟ” ภายในหมู่บ้าน
กิจกรรมปิดท้ายร่วมทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพ นวดแผนไทย อบสมุนไพร ย่างแคร่สมุนไพร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน คนในชุมชนจะนวดกันเป็นเกือบทุกคนเพราะสมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนามาฝึกอบรมการนวดให้อย่างถูกวิธี ช่วยผ่อนคลายบรรเทาความปวดเมื่อยล้าจากการทำงานได้อีกด้วย ที่บ้านแม่กำปองเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ผู้คนน่ารักยิ้มแย้มแจ่มใส มีความสมัครสมานสามัคคี มีสวัสดิการและมีระบบจัดการที่ดี เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโฮมสเตย์ (Best Homestay) ที่น่าสนใจแห่งหนึ่งทีเดียว สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ เว็บไซต์ http://www.mae-kampong.com/
ทั้งนี้ มีกิจกรรมการแข่งขันนักการตลาดอาสาเพื่อชุมชนในรอบชิงชนะเลิศนี้ ทีมนักการตลาดทั้งหมด 17 ทีม ในแต่ละสาขาที่ผ่านการคัดเลือก จะต้องลงพื้นที่ชุมชนตามโจทย์ที่กำหนดให้ เพื่อไปสร้างสรรค์แพ็คเก็จท่องเที่ยววิถีชุมชนที่ดีที่สุด โชว์ฝีมือทางการตลาด และวางแผนการขายวอร์เชอร์ท่องเที่ยวชุมชน ส่วนทีมนักการตลาดทีมใดที่ขายวอร์เชอร์ได้มากที่สุด ก็จะได้รับรางวัลชนะเลิศไปโดยปริยาย โดยนักการตลาดทุก ๆ ทีม จะมีระยะเวลาในการขายวอร์เชอร์ 30 วัน สำหรับทีมนักการตลาดที่เข้าแข่งขันลงพื้นที่ในชุมชน “บ้านแม่กำปอง”จ.เชียงใหม่ในครั้งนี้คือ ทีมคุณวันท์นพัช ผดุงเทียน Penguin 2FLY สามารถติดตามได้ที่https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=938239730008102&id=387608565071224
นอกจากผลจากคะแนนในการลงพื้นที่ชุมชนของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ แล้ว ยังมีเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนน 2 ด้าน ทั้งจากคะแนนพิจารณาของกรรมการ 70% และ คะแนนโหวตจากสื่อมวลชน 30% โดย ททท. จะจัดงานประกาศผลและพิธีมอบรางวัลสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท ในวันที่ 27 กันยายน 2563 ซึ่งตรงกับวันท่องเที่ยวโลก World Tourism Day สำหรับผู้ชนะจากการประกวดครั้งนี้ นอกจากจะได้รับโล่รางวัลแล้วยังจะได้รับการประชาสัมพันธ์ ต่อยอดขยายผลทางการตลาดและขายอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านสื่อต่างๆ มากมาย รวมทั้งการขายผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ระดับโลก Airbnb เป็นต้น
📍www.indyreport.com