🔴 ททท. – คณะกรรมการและผู้เข้าแข่งขันการตลาดลงพื้นที่ “บ้านท่าขันทอง” จ.เชียงราย ในโครงการประกวดสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท Thailand Rural Tourism Awards 2020

ระหว่างวันที่ 08 – 09 สิงหาคม 2563 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก กรมการท่องเที่ยว , ธนาคารออมสิน , Local Alike และทีมผู้เข้าแข่งขันทางการตลาด ทีม TripTravelGang ลงพื้นที่ หมู่บ้านโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย หนึ่งในรายชื่อชุมชนที่ได้รับการเสนอชื่อสูงสุด สุดยอดหมู่บ้านในโครงการประกวดสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท(Thailand Rural Tourism Awards 2020) สาขาหมู่บ้านท่องเที่ยวโฮมสเตย์ (Best Homestay) โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ 40 องค์กร จัดประกวดขึ้น วัตถุประสงค์เพื่อประเมินและคัดเลือกสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท ยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวชุมชนในระดับประเทศโดยชุมชนของประเทศไทย ส่งเสริมด้านการตลาด สร้างความเชื่อมั่น และสร้างการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย มุ่งหวังพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

หมู่บ้านโฮมสเตย์บ้านท่าขันทองตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ที่นี่ป็นชุมชนอีสานล้านนาที่อพยพมาจากหลายจังหวัดทางภาคอีสาน มารวมตัวกันอยู่ที่ บ้านท่าขันทอง เมื่อ 50 กว่าปีก่อนและมาพร้อมกับวัฒนธรรมอีสาน เนื่องจากความแห้งแล้งจากที่โน่นมาอยู่ที่นี่ก็ทำการเกษตร และเมื่อพืชผลทางการเกษตรราคาไม่ดี จึงหาวิธีการที่จะสร้างรายได้เสริมเพื่อทดแทนภาคการเกษตร จึงได้คำแนะนำจาก คุณหมอประเวศ วะสี แนะนำว่าการท่องเที่ยวชุมชนเป็นคานงัดของการพัฒนาท้องถิ่น ช่วยพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมได้ทุกมิติ เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว จึงได้ศึกษาและจัดทำเป็นโฮมสเตย์ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ หมู่บ้านโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2550 จากการที่มีนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศสนใจเดินทางเข้ามาศึกษาดูงาน กระทั่งมีการพัฒนาเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะที่นี่เป็นวิถีชีวิตแบบผสมผสานระหว่าง อีสานกับ ล้านนาจึงเป็นที่มาของคำว่า “อีสานล้านนา” ที่แฝงไปด้วยความอบอุ่นและความเป็นกันเอง มีเสน่ห์และที่สำคัญที่สุดก็คือผสมผสานกันในเรื่องของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างกลมกลืน

หมู่บ้านโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง ติดกับแม่น้ำโขงพื้นที่ของหมู่บ้านยาวเลียบไปตามแนวแม่น้ำโขง สามารถนั่งเรือชมวิวทิวทัศน์สองฝั่งโขงที่สวยงาม จุดเด่นและเอกลักษณ์ของชุมชนก็คือ โฮมสเตย์ ซึ่งเป็นโฮมสเตย์ที่ได้มาตรฐานเหมือนกับมาตรฐานระดับโรงแรม เรียกได้ว่าเป็นโฮมสเตย์ที่มีสไตล์ หากใครมาที่นี่ก็จะได้รับประทานอาหารที่เป็นอาหารถิ่นและที่พลาดไม่ได้ก็คือ หมูปิ้งตาปันกับน้ำจิ้มยายปั๋น รวมทั้งจะได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศกลางแม่น้ำโขงอย่างรื่นรมย์ ที่สำคัญก็คือ หมู่บ้านโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง เป็นหมู่บ้านชนะเลิศการประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เย็นเป็นสุข เป็นหมู่บ้านต้นแบบภูมิทัศน์วัฒนธรรมของจังหวัดเชียงราย และได้รับรางวัลอื่นๆ ทางด้านโฮมสเตย์ทั้งระดับจังหวัดและประเทศติดต่อกันมาแล้วหลายครั้ง ที่นี่มีความเป็นครอบครัวที่โดดเด่นมาก ทุกคนที่มาพักที่นี่จะได้รับการต้อนรับเสมือนเป็นคนในครอบครัวด้วยน้ำใจไมตรีที่อบอุ่น มีการรับประทานอาหารร่วมกันในตอนเช้าอีกด้วยเหมือนมาเที่ยวบ้านญาติของตัวเองเลยทีเดียว


สำหรับกิจกรรมในการลงพื้นที่
หมู่บ้านโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง ในวันแรกสัมผัสกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมแบบอีสานล้านนา โดยคณะเดินทางถึงศูนย์ประสานงานโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง (ร้านกาแฟอินคา) ชาวชุมชนบ้านท่าขันทองมาคอยต้อนรับ ด้วยการร้องรำทำเพลงหมอลำแบบอีสานสนุกสนานครึกคลื้นและเป็นกันเอง มีการตรวจวัดอุณภูมิก่อนร่วมกิจกรรม


นายเสถียร บุญปก ประธานชุมชนบ้านท่าขันทอง และ นายเศรษฐศักดิ์ พรหมมา ปลัดเทศบาลตำบลบ้านแซว และ ประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดเชียงราย เป็นที่ปรึกษากลุ่มโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง กล่าวต้อนรับคณะฯ แนะนำตัวและให้ข้อมูลแนะนำหมู่บ้าน พร้อมรับของว่างที่จัดเตรียมไว้คือ ชาดาวอินคา เมล็ดดาวอินคาคั่ว ข้าวจี่ทองคำ ซึ่งทำมาจากข้าวเหนียวที่มีรสชาติหวานคล้ายข้าวเหนียวมูล นำมาชุบไข่แล้วนำมาจี่หรือย่างบนตะแกรงจนไข่เกาะบนตัวข้าวจี่จนเป็นสีเหลืองน่ารับประทาน นอกจากนี้ยังมีขนมลูกชุบกับน้ำดอกอัญชัญมะนาว ซึ่งทั้งหมดเป็นวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ของชุมชนบ้านท่าขันทอง


จากนั้นเดินทางต่อโดยรถตู้ไป
ร้านเชฟชุมชน คณะร่วมกันทำกิจกรรมทำอาหารพื้นถิ่น ข้าวกั๊นจิ๊น ก่อนที่จะลงมือทำอาหาร ชุมชนมีบริการล้างมือให้กับคณะฯ โดยจัดให้เด็กๆ ในชุมชนจัดแถวตักน้ำล้างมือให้กับคณะเพื่อความสะอาด และเช็ดด้วยผ้าเช็ดมือที่เป็นผ้าขนหนูผืนเล็ก ซึ่งที่นี่จะไม่ใช้กระดาษชำระเพื่อไม่ให้เป็นขยะสะสม และง่ายต่อการเก็บและทำความสะอาด โดยกิจกรรมคณะได้ทดลองทำอาหารถิ่น คือ ข้าวกั๊นจิ๊น ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นของทางภาคเหนือประกอบด้วยข้าวสวยหุงสุกคลุกกับเลือดหมูและเนื้อหมูบด ปรุงรสด้วยเกลือ ซอสปรุงรส และน้ำมันพืช ห่อด้วยใบตองนำไปนึ่งจนสุกรับประทานกับ หอมเจียว กระเทียมเจียว และ ผักสด ต่างๆ ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยรับประทานที่ไหนมาก่อน ก็จะได้มาลองทำและลิ้มลองกันได้ที่บ้านท่าขันทองแห่งนี้ รวมทั้งยังได้รับประทานขนมจีนน้ำเงี้ยว ส้มตำ ไข่เจียว และผลไม้ตามฤดูลกาล เช่น แก้วมังกรเป็นของหวานตบท้ายในมื้อกลางวันอีกด้วย



ช่วงบ่ายรับฟังการนำเสนอข้อมูล โฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง โดย นายเศรษฐศักดิ์ พรหมมา ศูนย์ประสานงานโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง ต่อด้วยกิจกรรม อบสมุนไพร คณะได้ทดลองอบสมุนไพรในห้องอบสมุนไพรที่แยกชายหญิงไว้ 2 ห้อง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นถิ่นของที่นี่ก่อนจะแยกย้ายเข้าที่พักโฮมสเตย์ที่จัดไว้ให้

และกิจกรรมลำดับถัดมา คือ การนั่ง รถอีต๊อกซึ่งเป็นพาหนะที่ใช้กันแพร่หลายในชุมชน เพื่อชมวิถีชีวิตอีสานล้านนาบ้านท่าขันทอง เดินทางไปชมและทำกิจกรรมทอผ้าลายตาหม่อง ซึ่งเป็นสินค้าขึ้นชื่อของบ้านท่าขันทอง  ลักษณะเป็นลายตารางช่องเล็กๆ เป็นภูมิปัญญาสืบทอดกันมา เล่าว่าเห็นแรงงานชาวพม่านิยมใช้ จึงเรียกว่า “ผ้าลายตาหม่อง” นั่นเอง ปัจจุบันชุมชนนำผ้าลายตาหม่องมาต่อยอดเป็นซองใส่ช้อนวางบนจานได้อย่างสวยงาม สำหรับใช้ในโฮมสเตย์แต่ละหลังลายไม่เหมือนกันอีกด้วย

ต่อด้วยการนั่งรถอีต๊อกผ่านทุ่งนาเขียวขจีไปชมวิถีเกษตร ไร่วู้ดดี้ สวนเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นสวนเกษตรแบบผสมผสาน ชิมน้ำเสาวรสสดอร่อยๆ และสดชื่นที่เก็บจากสวน พร้อมเก็บแก้วมังกร และนำผลมะนาวสดๆ น้ำผึ้งป่า มาเป็นส่วนประกอบในการทำ “ยำมะนาวรสแซ่บ” ให้ได้ลิ้มลอง

ต่อด้วยกิจกรรมนั้งรถอีต๊อกไปชม โรงสีข้าวกล้องโบราณ ชิมน้ำข้าวกล้องที่มีกลื่นหอมอ่อนๆ ของกลิ่นข้าวกล้องซี่งมีวิตามินบำรุงสุขภาพ คณะกรรมการร่วมทำกิจกรรมตำน้ำพริกทำ แกงแค ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นของชาวล้านนาที่สืบทอดมาช้านาน ประกอบไปด้วยผักต่างๆ ตามฤดูกาลและสิ่งที่เหมือนกันคือใบชะพลู ทางเหนือเรียกชะพลูว่า ผักแค และมีผักเผ็ดหรือผักคราดเป็นผักพื้นเมืองของภาคเหนือ ใบพริก พริกสด ซึ่งหาได้ง่ายมีตลอดทั้งปีนำมาทำอาหาร


สำหรับกิจกรรมในช่วงเย็นก่อนจะลงเรือไปชมวิถีสองฝั่งโขง คณะเดินทางไปชมวิถีเกษตรอีกแห่งหนึ่ง คือสวนดาวอินคาที่ติดริมแม่น้ำโขงมีทัศนียภาพที่สวยงาม ชิม เมี่ยงดาวอินคา เพื่อสุขภาพ ดาวอินคาถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนบ้านท่าขันทอง ทุกส่วนของต้นดาวอินคาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ซึ่งประโยชน์ของดาวอินคามีมากมายเลยทีเดียว ณ ตรงจุดนี้มีการจัดทำร้านค้าแบบเพิงไม้ไผ่ วางจำหน่ายสินค้าของชุมชน อาทิ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากดาวอินคา ชาดาวอินคา เมล็ดดาวอินคา น้ำผึ้ง ผ้าพันคอลายตาหม่อง ผ้าขาวม้า และเสื้อผ้าทอพื้นเมือง พืชผลทางการเกษตร ฯลฯ จำหน่ายให้คณะได้กระจายรายได้สู่ชุมชนกลับไปเป็นของฝากของที่ระลึกอีกด้วย

หลังจากนั้นเดินทางไปลงเรือเพื่อ ล่องเรือชมแม่น้ำโขง” สักการะเจ้าปู่ศรีสุทโธและเจ้าย่าศรีปทุมมาเพื่อเป็นสิริมงคลในการมาเยือนชุมชนฝั่งลุ่มแม่น้ำโขงบ้านท่าขันทอง ล่องเรือรับพลังท้องมังกรฟังเรื่องเล่าวิถีสองฝั่งโขงและเรื่องเล่าดินแดนนครโบราณสุวรรณโคมคำ จาก นายเศรษฐศักดิ์ พรหมมา พร้อมฟังหมอลำและบรรเลงดนตรีพื้นเมืองแบบอีสานล้านนาบ้านท่าขันทอง ระหว่างการล่องเรืออย่างสนุกสนานไปตามลำน้ำโขง

โดยขึ้นฝั่งที่ ท่าปู่ปรีชา ชิม หมูปิ้งตาปันกับน้ำจิ้มยายปั๋น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของบ้านท่าขันทอง หมูปิ้งตาปั่นเลิศรสแกล้มเครื่องดื่มสมุนไพรบำรุงกำลังของชุมชน พร้อมสนุกสนานกับเสียงเพลงหมอลำและเสียงแคนที่บรรเลงอย่างครึกครื้น สร้างบรรยากาศในการลิ้มรสหมูย่างตาปันพร้อมชมวิวทิวิทัศน์สองฝั่งแม่น้ำโขงอย่างเพลิดเพลิน

จากนั้นนั่งรถอีต๊อกกลับเพื่อมารับประทานอาหารมื้อค่ำ ร้านเชฟชุมชน ที่จัดเตรียมพิธี บายศรีสู่ขวัญ ซึ่งเป็นพิธีการมงคลที่นิยมปฏิบัติกันในแถบภาคเหนือและภาคอีสานเพื่อเป็นการต้อนรับ เป็นประเพณีเรียกขวัญให้มาอยู่กับตัว ผูกข้อมืออวยพรให้แก่คณะที่มาเยือน ก่อนจะรับประทานอาหารท้องถิ่นแบบขันโตกดินเนอร์จากเชฟชุมชน รับชมการแสดงต่างๆ ที่ชุมชนบ้านท่าขันทอง ซึ่งมีทั้งการแสดงของทางภาคเหนือและภาคอีสานมาแสดงให้ชม โดยเฉพาะนักแสดงจากหลากหลายรุ่นตั้งแต่รุ่นเล็กเด็กๆ ในหมู่บ้านจนมาถึงรุ่นใหญ่ที่พร้อมใจมาร่วมแสดงในชุดการแสดงต่างๆ ผสมผสานกลมกลืนกันอย่างลงตัวสลับกันไป อาทิ การแสดงรำฟ้อนสายไหม ที่อ่อนช้อยของทางภาคเหนือ และการแสดง รำดีดไห , รำแหย่ไข่มดแดง ของทางภาคอีสานให้ได้ชมอย่างสนุกสนาน แสดงให้เห็นถึงความรักความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชุมชนที่เข้มแข็ง ก่อนปิดท้ายกิจกรรมความบันเทิงด้วยการฟ้อนรำจากชุมชนที่เชิญชวนคณะฯ มาร่วมรำวงกันอย่างสนุกสนานและประทับใจ

กิจกรรมส่งท้ายในเช้าวันรุ่งขึ้น เริ่มต้นด้วยการ ใส่บาตรเช้า หน้าที่พักโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง โดยทางเจ้าของบ้านได้จัดเตรียมอาหารให้กับคณะที่มาพักเพื่อใส่บาตรในตอนเช้า มีพระมาบิณฑบาตรในช่วงเช้าเวลาประมาณ 6 โมงเช้า เมื่อใส่บาตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าของบ้านพักโฮมสเตย์จะเตรียมอาหารเช้าสำหรับแขกผู้มาพัก ร่วมรับประทานอาหารเช้าร่วมกับเจ้าของบ้านพักโฮมสเตย์ ซึ่งเจ้าของบ้านจะปฏิบัติดูแลเสมือนหนึ่งญาติที่มาเยี่ยมเยือนอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง

นอกจากกิจกรรมที่คณะมาร่วมทำกิจกรรมในครั้งนี้แล้วหมู่บ้านโฮมสเตย์บ้านท่าขันทองยังมีกิจกรรมอื่นๆอีกมากมายที่น่าสนใจให้ได้เลือก สนใจหรืออยากไปท่องเที่ยวศึกษาดูงานที่ชุมชนและทำกิจกรรมสามารถติดต่อได้ที่ หมู่บ้านโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง 32 .3 บ้านท่าขันทอง .บ้านแซว .เชียงแสน .เชียงราย57150 โทร. 081 952 7058 หรือ เว็บไซด์ www.facebook.com/BanSaeoVillage/

ทั้งนี้ มีกิจกรรมการแข่งขันนักการตลาดอาสาเพื่อชุมชนในรอบชิงชนะเลิศนี้ ทีมนักการตลาดทั้งหมด 17 ทีม ในแต่ละสาขาที่ผ่านการคัดเลือก จะต้องลงพื้นที่ชุมชนตามโจทย์ที่กำหนดให้ เพื่อไปสร้างสรรค์แพ็คเก็จท่องเที่ยววิถีชุมชนที่ดีที่สุด โชว์ฝีมือทางการตลาด และวางแผนการขายวอร์เชอร์ท่องเที่ยวชุมชน ส่วนทีมนักการตลาดทีมใดที่ขายวอร์เชอร์ได้มากที่สุด ก็จะได้รับรางวัลชนะเลิศไปโดยปริยาย โดยนักการตลาดทุก ทีม จะมีระยะเวลาในการขายวอร์เชอร์ 30 วัน สำหรับทีมนักการตลาดที่เข้าแข่งขันลงพื้นที่ในชุมชน  หมู่บ้านโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง ในครั้งนี้คือ ทีม TripTravelGang สามารถติดตามได้ที่ : https://www.facebook.com/122293847959345/posts/1377750839080300/

นอกจากผลจากคะแนนในการลงพื้นที่ชุมชนของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ แล้ว ยังมีเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนน 2 ด้าน ทั้งจากคะแนนพิจารณาของกรรมการ 70% และ คะแนนโหวตจากสื่อมวลชน30% โดย ททท. จะจัดงานประกาศผลและพิธีมอบรางวัลสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท ในวันที่ 27 กันยายน2563 ซึ่งตรงกับวันท่องเที่ยวโลก World Tourism Day สำหรับผู้ชนะจากการประกวดครั้งนี้ นอกจากจะได้รับโล่รางวัลแล้วยังจะได้รับการประชาสัมพันธ์ ต่อยอดขยายผลทางการตลาดและขายอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านสื่อต่างๆ มากมาย รวมทั้งการขายผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ระดับโลก Airbnb เป็นต้น

📍www.indyreport.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *