🔴 เอสซีจี ผนึกพลัง ชุมชนและภาครัฐขยายพื้นที่ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” จ.ลำปาง

เอสซีจี ผนึกพลังชุมชนและภาครัฐ ขยายพื้นที่โครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” สร้างคุณค่าหมุนเวียน เปลี่ยนโลกให้ยั่งยืน ใน จ.ลำปาง ผลักดันชุมชนสู่การพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
 
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา เอสซีจี จัดกิจกรรมโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” ร่วมกับเครือข่ายชุมชน และจิตอาสารักษ์น้ำจากทั่วประเทศพร้อมหน่วยงานภาครัฐ สานต่อโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” สร้างคุณค่าหมุนเวียน เปลี่ยนโลกให้ยั่งยืน ในพื้นที่ต้นน้ำ จ.ล่าปาง เพื่อขยายผลการดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ สร้างต้นน้ำที่ดี กลางน้ำทีสมบูรณ์ สู่ปลายน้ำที่ยั่งยืน ควบคู่กับการส่งเสริมแนวปฏิบัติ SCG Circular Way ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผ่านกระบวนการสร้างการมีสวนร่วมกับชุมชน ตลอดจนต่อยอดสู่การพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงได้อย่างยิ่งยืน
โดยได้รับเกียรติจากท่านองคมนตรี ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย ประธานกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี เป็นประธานในพิธีเปิดและร่วมปาฐกถาพิเศษ ”แนวทางศาสตร์พระราชา นำพาความเข้มแข็งสู่ชุมชนยั่งยืน” มี นายชลณัฐ ญาณารณพ รองผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานโครงการรักษ์น้ำตามแแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน นายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวต้อนรับและสนับสนุนกิจกรรม ร่วมด้วยชุมชนบ้านสาแพะ หมู่ 3 อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง และหน่วยงานภาครัฐ จ.ลำปาง เครือข่ายชุมชน และจิตอาสารักษ์น้ำจากทั่วประเทศ ร่วมกัน สานต่อโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” ขยายพื้นที่สร้างฝายชะลอน้ำ ใน จ.ลำปาง และอีก 6 จังหวัดในภาคเหนือ ณ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด 
  
 
นายชลณัฐ ญาณารณพ รองผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา เอสซีจีได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ด้านการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ ผ่านกระบวนการสร้างให้ชุมชนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันอย่างแท้จริง ภายใต้ โครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที”
ตามแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ควบคู่กับการส่งเสริมแนวปฏิบัติ SCG Circular Way สำหรับวางแผนการทำงานร่วมกับชุมชนให้ใช้ทรัพยากรในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับวิถีชีวิต และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยให้ชุมชนสามารถจัดการน้ำ และทำให้มีน้ำหมุนเวียนกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไม่รู้จบ ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำที่ได้ร่วมกับชุมชนสร้างฝายชะลอน้ำ ฟื้นคืนความสมดุลกว่า 235,000 ไร่ ตลอดจนพื้นที่กลางน้ำที่มีการสร้างสระพวง ทำให้ชุมชนมีน้ำใช้ทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปีกว่า 30,400 ลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร 500 ไร่ และระบบแก้มลิงที่ช่วยเก็บกักน้ำได้ถึง 9 ล้าน ลบ.ม. ช่วยให้พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์กว่า 16,750 ไร่
สำหรับพื้นที่ปลายน้ำ ได้สนับสนุนท่อ PE100 ที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติก และปูนทนน้ำทะเลที่ทนซัลเฟตและคลอไรด์ได้นานกว่าปูนธรรมดาให้ชุมชนนำไปประกอบเป็นบ้านปลา เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลกว่า 172 ชนิด ซึ่งเป็นการคิดค้นนวัตกรรมที่หมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด 
 
นอกจากการจัดการน้ำจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนที่สามารถต่อยอดสู่การพัฒนาอาชีพ และรวมกลุ่มก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน เช่น วิสาหกิจชุมชนบ้านแป้นใต้ กลุ่มตลาดวีมาร์เก็ต และ กรีนมาร์เก็ต ลำปาง โดยความร่วมมือระหว่างเอสซีจี และชุมชนในการจัดหลักสูตรวิสาหกิจและคุณธรรมชุมชนรักษ์น้ำ จนนำไปสู่ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจครัวเรือน คือทำให้ชุมชนมีรายได้เสริมจากวิสาหกิจชุมชนมากกว่า 60,000 บาท ต่อครัวเรือนต่อปี ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงและเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป” 
 
ด้านนายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า “แต่เดิมจังหวัดลำปางอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรป่าไม้ แต่ด้วยหลายปัจจัย เช่น การบุกรุกหาของป่า การเผาป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย รวมถึง ปัญหาไฟป่า ทำให้พื้นที่ลำปางเกิดความแห้งแล้งนับเป็นความท้าทายที่สำคัญของภาครัฐเช่นกันที่ต้องเร่งสร้างจิตสำนึกให้คนอยู่กับป่าแบบพึ่งพาอาศัยกันให้ได้มากที่สุด ความสำเร็จจากการดูแลพื้นที่ต้นน้ำด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำร่วมกับ 55 ชุมชนในพื้นที่จังหวัดลำปาง และที่จะกำลังขยายไปสู่พื้นที่ เมืองมาย อ.แจ้ห่ม และอีก 6 จังหวัด พื้นที่ในหลายจังหวัดในภาคเหนือ เช่น ในจังหวัดแพร่ น่าน ลำพูน และเชียงใหม่
 
นับเป็นบทเรียนและต้นแบบความร่วมมือที่แสดงให้เห็นถึงพลังของชุมชน เอสซีจี และภาครัฐ ในการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้น และจุดประกายให้ชุมชนอื่นๆ ที่ประสบปัญหาคล้ายกัน ได้นำแนวคิดนี้ ผสานกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไปปรับใช้แก้ปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ด้วยตนเองให้ประสบผลสำเร็จ และขยายผลต่อไปจนเกิดการดูแลและจัดการน้ำชุมชน ตลอดจนการพัฒนาอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนได้ต่อไป”
 
ขณะที่ นายชนะ ภูมี Vice President-Cement and Construction Solution Business ธุรกิจซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า “สำหรับโครงการต่อเนื่องซึ่งมีสระพวง น้ำเหล่านี้เวลาไหลออกมาเขาจะมีสระแม่ สระลูก สระหลาน มีด้วยกัน 7 สระ สระเหล่านี้ก็จะเชื่อมโยงกันด้วยท่อ PVC และแต่ละแปลงจะมีน้ำไหลเปิดเข้ามาในร่อง ซึ่งแต่เดิมต้องไปสูบน้ำมาและปีหนึ่งทำเกษตรได้ปีละ 1 ครั้ง แต่เดี๋ยวนี้น้ำที่ได้สามารถทำการเกษตรได้ 3 ครั้ง และเวลาที่น้ำไหลไปถึงบ่อข้างล่างแต่ไม่ได้ไหลไปเลยสามารถนำปรับวนไปวนมาได้ ซึ่งเกิดจากชาวบ้านร่วมมือกัน ซึ่งอันนี้ก็เป็นหลักของในหลวงรัชกาลที่ 9 และ รัชกาลที่ 10 ที่ต่อเนื่องมา ว่าทำอย่างไรให้เรามีต้นน้ำหรือป่าไม้ที่เก็บน้ำเอาไว้ใช้ในช่วงที่ไม่มีฝน เพราะต้องถือว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกดีใจที่ชาวบ้านสามารถพัฒนาตัวเอง และสามารถต่อยอดด้วยตัวเองได้ในหลายๆ เรื่อง
อย่างเช่น ผู้ใหญ่คง ที่เป็นคนริเริ่มเดิมก็เคยทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ มาประมาณ 20 หรือ 30 ปี ทำในระดับบริการ และกลับมาบ้านเพื่อกลับมาสู้กว่าที่จะมีวันนี้ได้ ซึ่ง 2 ปีที่แล้วเวลาให้นำเสนอว่าทำอย่างไรถึงทำสำเร็จเขาแทบจะพูดออกมาจากข้างในด้วยความรู้สึกตื้นตันใจ ทำให้เรารู้สึกว่า SCG สร้างฝายในใจคน สิ่งที่ได้รับก็คือคนที่มีคุณภาพและเข้าใจการอยู่ร่วมกับธรรมชาติเพื่อต่อยอด ปัจจุบันเขาก้าวข้ามการที่ต้องเอาตัวเองรอดหรือทำให้ชุมชนรอดได้แล้ว กลายเป็นแหล่งความรู้และเป็นครูให้กับชุมชนอื่นๆ รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้มีความภาคภูมิใจมากขึ้นในตัวเองเรื่อยๆ ก็คือมี seelf-esteem สูง จะสังเกตุได้ว่าทีมของเขาจะมีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ เวลาที่ผมกลับมาในแต่ละครั้งจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องวิธีคิดและเรื่องวิธีการให้คนอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เรารู้สึกดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการที่ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้น ซึ่งกำลังหลักก็คือชาวบ้านและหน่วยงานราชการและภาครัฐที่ร่วมมือกัน
 
 
ซึ่งจริงๆ เรามีเป้าหมายในเรื่องการทำฝายไปถึง 100,000 ฝาย ในปี 2563 แต่เราไม่ได้มีความต้องการว่าเราอยากให้มากขึ้นหรือน้อยลง เพียงแต่ว่าเราต้องการให้เกิดการที่ชาวบ้านได้มีองค์ความรู้ในตัว สามารถแก้ปัญหาในสิ่งที่เจอได้ เพราะแต่ละชุมชนแต่ละพื้นที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน แต่หลักจริงๆ อยู่บนหลักการณ์เดียวกัน อย่างที่ท่านองคมนตรีได้บรรยายไว้ คือ ทำอย่างไรให้เขาพึ่งพาตนเองได้บนหลักของการมีองค์ความรู้และต่อยอดไปที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้” นายชนะ กล่าว  
 
ทั้งนี้ ในพื้นที่ต้นน้ำ เอสซีจีได้ร่วมกับชุมชน จิตอาสา ภาครัฐ และภาคเอกชน สร้างฝายชะลอน้ำไปแล้วกว่า 84,200 ฝาย มีผู้ร่วมกิจกรรมกว่า 95,000 คน โดยตั้งเป้าขยายการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ต้นน้ำให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศให้ครบ 100,000 ฝาย ภายในปี 2563 ในพื้นที่กลางน้ำ ร่วมกับชุมชนสร้างสระพวงเชิงเขา ส่งต่อน้ำเพื่อทำการเกษตรไปแล้ว 7 สระ โดยมีเป้าหมายจะขุดสระพวงให้ครบ 20 สระ และจัดทำระบบแก้มลิงในพื้นที่กลางน้ำไปแล้ว 8 พื้นที่ โดยตั้งเป้าหมายจะทำให้ครบ 20 พื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน และในพื้นที่ปลายน้ำ ได้ร่วมกับชุมชนวางบ้านปลาไปแล้วกว่า 1,900 หลัง และตั้งเป้าหมายจะวางให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดชายฝั่งภาคตะวันออก และพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ คือ ตรัง นครศรีธรรมราช เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศชายฝั่งทะเลให้ยั่งยืน
 
เอสซีจี ยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงการสร้างเครือข่ายให้เกิดพลังที่เข้มแข็ง เพื่อร่วมกันสร้างต้นน้ำที่ดี สู่ปลายน้ำอันอุดมสมบูรณ์ พร้อมเชิญชวนทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างคุณค่าหมุนเวียน เปลี่ยนโลกให้ยั่งยืนผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามแนวปฏิบัติ SCG Circular Way โดยทุกคนสามารถร่วม “สร้างคุณค่าหมุนเวียน เปลี่ยนโลกให้ยั่งยืนได้” แค่เริ่มที่ตัวเรา โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรในการผลิตให้น้อยที่สุด หรือใช้ให้คุ้มค่าที่สุด ลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และลดการสร้างขยะ แยกขยะให้ให้ถูกประเภท เพื่อนำขยะไปเข้าสู่กระบวนการจัดการ และขยะบางประเภทสามารถนำกลับมาสร้างมูลค่าหรือสร้างประโยชน์ได้อีกอย่างไม่รู้จบ เพื่อสร้างให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ ส่งเสริมให้ชุมชนพัฒนาสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะขับเคลื่อนความยั่งยืนให้ประเทศ และสร้างโลกที่น่าอยู่ สำหรับคนรุ่นต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *