บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย ร่วมกับคณะกรรมการโครงการหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด จัดค่าย “โครงการบันไดกวี รุ่นที่ 5” เมื่อวันที่ 5 – 7 กรกฎาคม ณ บ้านผู้หว่าน จังหวัดนครปฐม เพื่อส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาเยาวชนได้เพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ด้านการอ่านและการเขียน และติดอาวุธทางปัญญาเสริมทักษะให้เยาวชนผู้ผ่านการคัดเลือกได้เป็นนักเขียนนักกวีที่ดีในอนาคต
นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวว่า ค่าย “บันไดกวี” เป็นกิจกรรมส่งเสริมการเขียนการอ่านการเรียนรู้ของซีพี ออลล์ ในการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง ตามปณิธาน “ร่วมสร้างสรรค์ และแบ่งปันโอกาสให้กับทุกคน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสเยาวชนและครูอาจารย์เข้าใจรูปแบบฉันทลักษณ์ของกวีนิพนธ์ไทย มีความสามารถในการสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ที่มีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ สามารถสร้างผลงานกวีนิพนธ์ที่ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ อีกทั้งต้องการส่งเสริมให้ครูอาจารย์มีความรู้ความเข้าใจและมีเทคนิคพิเศษในการจัดการเรียนการสอนฉันทลักษณ์ของกวีนิพนธ์ไทย ซึ่งในปีนี้มีเยาวชนจากทั่วประเทศผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 50 คน ตลอดจนมีครูอาจารย์ที่ปรึกษาเข้าร่วมโครงการนี้ด้วยจำนวน 25 คน
กิจกรรมในโครงการประกอบด้วยการปรับพื้นฐาน โครงสร้างฉันทลักษณ์ กุญแจเสียง จังหวะและลีลา คีตกวี เปิดโลกทัศน์ ภิวัฒน์กวี พร้อมด้วยการฝึกปฏิบัติจริงทั้งการประพันธ์ การอ่าน การวิเคราะห์และวิจารณ์ผลงาน โดยศิลปินแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านกวีนิพนธิ์อย่างใกล้ชิด อาทิ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์และกวีซีไรต์, สถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์, ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์, รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ (ไพฑูรย์ ธัญญา) ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์และนักเขียนซีไรต์, ศักดิ์สิริ มีสมสืบ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์และกวีซีไรต์, เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ กวีซีไรต์, พินิจ นิลรัตน์ เป็นต้น
นอกจากการฝึกอบรมและลงมือปฏิบัติจริงแล้ว นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจะได้ทำกิจกรรมแบบเป็นกลุ่มสร้างสรรค์ผลงาน พร้อมทั้งสานสัมพันธ์กับเพื่อนต่างสถาบันและแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดผ่านการวิจารณ์ผลงานอีกด้วย
อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้บอกความสำคัญของการในการครั้งนี้ว่า โครงการบันไดกวี รุ่นที่ 5 ในครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญเพื่อปูพื้นฐานเกี่ยวกับบทกวีนั้นไปสู่สถาบันศึกษาทั้งครูและนักเรียนมากขึ้น เพื่อทำให้ความเข้าใจในบทกวีมากขึ้น เนื่องจากผู้ทีเข้าประกวดโดยส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเขียนบทกวีดีอยู่แล้ว ทำให้การประกวดแต่ละครั้งจะมีหน้าเดิมๆ เป็นหลัก ซึ่งการให้องค์ความรู้พื้นฐานนี้จะช่วยขยายผู้เข้าประกวดคนใหม่ๆ ด้วย
“สำหรับผู้ที่เข้าประกวดนั้นไม่ต้องเป็นคนที่เก่งการเขียนกวีขอแค่มีพื้นฐานเบื้องต้นและความสนใจในเรื่องของกวีอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งที่ผู้เข้าประกวดนอกจากรางวัลแล้ว ยังได้เข้าใจความสำคัญและความสุนทรีย์ของภาษาไทยและดีใจมากที่รัฐบาลและเอกชนมาร่วมมือกันทำตรงนี้” อาจารย์เนาวรัตน์ กล่าว
อาจารย์เนาวรัตน์ เปิดเผยต่อว่า โครงการนี้ตลอด 5 ปี ได้เห็นพัฒนาเกี่ยวกับภาษาไทยโดยเฉพาะครูที่เข้ามาร่วมมีความเข้าใจมากขึ้น เนื่องจากครูบางส่วนยังมีพื้นฐานไม่แน่นพอทำให้เด็กทำให้เด็กไม่สนใจเท่าที่ควร ซึ่งการให้นักเรียนและครูได้ทำและเรียนรู้ไปด้วยกันจะเป็นผลดีในระยะยาว ซึ่งความพึงพอใจในตัวโครงการนี้แม้จะไม่ได้ดีที่สุดแต่ก็รู้สึกพึงพอใจในระดับหนึ่ง เนื่องจากได้เห็นผู้เข้าประกวดใหม่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงผู้เข้าประกวดบางส่วนจะยังมีพื้นฐานไม่เน้นพอแต่ก็ถือว่าเป็นที่น่าพึงพอใจ
“เนื่องด้วยคนยุคใหม่อยู่กับเทคโนโลยีมากขึ้น อาจจะทำให้ไม่เห็นศักยภาพของตนเอง รวมถึงกลายเป็นเหยื่อของเทคโนโลยีได้ ขณะที่ปัจจุบันเองก็จะมีการใช้ภาษาอังกฤษกันเป็นส่วนมาก ดังนั้นการแต่งกลอนจะเป็นการกล่อมเกลาคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยได้มากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่อยู่กับภาษาไทยแต่ไม่สนใจในภาษาไทย ทำให้การสื่อสารผิดเพี้ยนและเข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งบทบาทของกวีเกี่ยวกับสังคมหรือการเมืองมีทั้งในทางอ้อมและส่งเสริม เพราะคำ ๆ เดียวหากมีการใช้ได้ถูกต้องจะขจัดปัญหาขัดแย้งกันได้” อาจารย์เนาวรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
น.ส.สุพิชชา นามขันธ์ ม. 6 โรงเรียนทาบวิทยา จ.สุรินทร์ เล่าว่า เคยได้มีโอกาสมาเข้าค่าย ค่ายวรรณกรรมแล้ว และก็ได้รู้จักโครงการนี้ก็เลยอยากจะมาฝึกพัฒนาในด้านการเขียนกวีให้ดีขึ้น ซึ่งว่าเป็นความชอบส่วนตัวชอบเขียนบทกลอนในทุกๆ วัน มันจะเป็นกึ่งๆ ไดอารี่ของเราด้วยค่ะ สิ่งที่ได้จากโครงการอย่างแรกเลยคือเราได้ฝึกภาษา ฝึกการเขียนให้ดีขึ้น โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมากทำให้เราพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น ให้เราเข้มแข็งขึ้นในด้านการใช้ภาษาไทยในการเขียนกลอน อยากให้เพื่อนๆ ลองมาร่วมเข้าค่ายบันไดกวีดูค่ะ อยากจะขอบคุณทางซีพี ออลล์ มากๆ เลยค่ะที่ได้ให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาไทย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับคนไทย และได้เลือกศิลปินแห่งชาติแล้วก็เลือกนักเรียนเข้าค่ายนี้ ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดร่วมกันในสิ่งที่เราชอบอะไรเหมือนกันค่ะ
ด้านครูพัชรินทร์ สิทธิภูมิ ครูโรงเรียนนิคมวิทยา ได้บอกเล่าถึงโครงการนี้ว่า โครงการนี้เป็นการพัฒนาครูและนักเรียนพัฒนาทักษะเกี่ยวกับการแต่งคำประพันธ์ เนื่องจากกวีหัวใจสำคัญเพราะภาษาไทยมีความหลากหลายการแสดงออกบทประพันธ์หรือกลอนประเภทต่าง ๆ เป็นทางที่ทำให้ภาษาไทยดำรงอยู่อย่างสง่างาม การที่ได้นำครูมาเข้าเรียนรู้พื้นฐานทางกวีในโครงการนี้ ก็จะนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปต่อยอดรูปแบบกิจกรรม เช่น การประกวดบทกลอน คำประพันธ์ ให้กับนักเรียนที่มีความสนใจเฉพาะกลุ่ม
“โดยที่โรงเรียนมีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมนี้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากเด็กยุคใหม่จะให้ความสนใจเกี่ยวกับสื่อเทคโนโลยีให้ความสำคัญพัฒนาการด้านนี้ค่อนข้างน้อย ฉะนั้นการทำให้นักเรียนหันมาสนใจคุณค่าของการสืบทอดคำประพันธ์เราจะต้องทำให้เขาดูก่อน เพราะถ้าหากไม่ทำเป็นแบบอย่างที่ชัดเจนเขาก็จะไม่ทำตาม อย่างเน็ตไอดอลที่ได้รับความสนใจมีเอกลักษณ์และมีสิ่งดึงดูดความสนใจได้ จึงต้องขอขอบคุณซีพี ออลล์ ที่ได้มีการจัดกิจกรรมดี ๆ ขึ้นมาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่วิทยากรที่มากกว่าความสามารถในการถ่ายทอดองค์ความรู้ได้อย่างชัดเขนและเป็นที่ยอมรับ การค่ายทำให้เรานำความรู้ไปต่อยอดความรู้เดิมและนำไปใช้ได้จริง ขอให้ซีพี ออลล์ มีโครงการดี ๆ นี้ต่อไปเรื่อย ๆ อนาคตก็ขอให้ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยที่มากกว่ากวีนิพนธ์” ครูพัชรินทร์ กล่าว
โครงการค่าย “บันไดกวี” เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 5 ปี ภายใต้นโยบายส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชน ของซีพี ออลล์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีเยาวชนเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น จำนวนกว่า 216 คน และครูอาจารย์จำนวนกว่า 151 คน
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการค่าย “บันไดกวี” และกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน-เขียน สามารถติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.cpall.co.th/ และ https://www.csrcpall.com/
📍www.indyreport.com