🔴 “ผ้าปาเต๊ะ” อีกมนต์เสน่ห์ความงามและศิลปะในวิถีแดนใต้มีให้สัมผัสได้ใน “ชีพจรลงSouth เม้าส์ผ่านกล้อง ท่องชายแดน” กับ ททท.

 

 

@ จำได้ว่าตอนเด็กๆ จะเห็นแม่ใส่ ผ้าถุง หรือ ผ้าซิ่น เป็นเครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวันอยู่สม่ำเสมอ และลายผ้าซิ่นหรือจะเรียกตามแต่ละความถนัดของแต่ละคนที่ฉันเคยเห็นแม่สวมใส่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นลายผ้าปาเต๊ะ ที่มีดอกดวงสวยงามหลากหลายลายและสีทั้งๆ ที่เราไม่ได้มีเชื้อสายชาวปักษ์ใต้ที่ชอบใส่ลายผ้าปาเต๊ะที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นถิ่นแดนใต้แต่อย่างใด แต่ลายผ้าปาเต๊ะที่แม่สวมใส่ก็มีโอกาสมาอวดโฉมให้เห็นถึงภาคกลางที่ฉันอาศัยอยู่ ทั้งในร้านค้า ตลาดนัด และกระจายไปอีกหลายภาคในประเทศไทย แถมความนิยมชมชอบยังลามไปถึงต่างแดนอีกด้วยในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าผ้าปาเต๊ะนั้นมีความงามและมีเสน่ห์ที่ชวนหลงใหลต่อผู้คนบนโลกรวมถึงตัวฉันเองด้วยขนาดไหน ที่มีความฝันว่าสักวันหนึ่งฉันจะมีเวลาวาดภาพเป็นลายผ้าปาเต๊ะสักหนึ่งภาพบนผืนผ้าใบเก็บไว้เป็นที่ระลึก

 

 

แต่เคยสงสัยกันไหมว่า ผ้าบาติกหรือผ้าปาเต๊ะมีที่มาอย่างไร เราลองไปทำความรู้จักกับประวัติความเป็นมาของผ้าบาติกหรือผ้าปาเต๊ะกันดีกว่า คำว่า Batik หรือ “ปาเต๊ะ” เป็นภาษามาลายู หมายถึง ผ้าที่เขียนด้วยขี้ผึ้งและย้อมสีในบริเวณที่เขียนด้วยขี้ผึ้ง โดยสีจะซึมเข้าไป ถ้าต้องการหลายสีต้องย้อมหลายครั้ง ตลอดจนระบายในบางส่วนจึงจะได้ผ้าย้อมที่สวยงาม

ผ้าบาติกหรือผ้าปาเต๊ะ เป็นคำที่ใช้เรียกผ้าชนิดหนึ่งที่มีวิธีการทำโดยใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี และใช้วิธีการแต้ม ระบายสี หรือย้อมในส่วนที่ต้องการให้ติดสี ผ้าปาเต๊ะบางชิ้นอาจจะผ่านขั้นตอนการปิดเทียน แต้มสี ระบายสีและย้อมสีนับเป็นสิบๆ ครั้งส่วนผ้าปาเต๊ะอย่างง่ายอาจทำโดยการเขียนเทียนหรือพิมพ์เทียน แล้วจึงนำไปย้อมสี ที่ต้องการ คำว่าปาเต๊ะเดิมเป็นคำในภาษาชวาใช้เรียกผ้าที่มีลวดลายที่เป็นจุด คำว่า “ติก” มีความหมายว่า เล็กน้อย หรือจุดเล็กๆ มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า ตริติก หรือตาริติก ดังนั้นคำว่า Batik หรือ “ปาเต๊ะ” จึงมีความหมายว่า เป็นผ้าที่มีลวดลายเป็นจุดๆ ด่างๆ แม้ว่าการทำผ้าปาเต๊ะปัจจุบันจะก้าวหน้าไปมากแล้วก็ตาม แต่ลักษณะเฉพาะประการหนึ่งของผ้าปาเต๊ะ ก็คือจะต้องมีวิธีการผลิตโดยใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีหรือปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีซ้ำอีก

แหล่งกำเนิดของผ้าบาติกหรือผ้าปาเต๊ะมาจากไหนยังไม่เป็นที่ยุติ นักวิชาการชาวยุโรปหลายคนเชื่อว่ามีในประเทศอินเดียมาก่อน แล้วจึงแพร่หลายเข้าไปในประเทศอินโดนีเซีย ส่วนอีกหลายคนว่ามาจากประเทศอียิปต์หรือเปอร์เซีย แม้ว่าจะได้มีการค้นพบผ้าบาติกที่มีอายุเก่าแก่ในประเทศอื่น ทั้งอียิปต์ ญี่ปุ่น และ อินเดีย แต่บางคนก็ยังเชื่อว่า ผ้าบาติกเป็นของดั้งเดิมของประเทศอินโดนีเซีย และยืนยันว่าศัพท์ที่ใช้เรียกเฉพาะในการเรียกวิธีการและขั้นตอนในการทำผ้าบาติกนั้น เป็นศัพท์ภาษาอินโดนีเซีย สีที่ใช้ย้อมก็มาจากพืชที่มีอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงแท่งขี้ผึ้งชนิดที่ใช้เขียนลายก็เป็นของประเทศอินโดนีเซียเช่นกัน ไม่เคยมีในประเทศอินเดียเลย เทคนิคที่ใช้ในประเทศอินโดนีเซียสูงกว่าที่ทำกันในปรเทศอินเดีย และจากการศึกษาค้นคว้าของ N.J.Kron นักประวัติศาสตร์ชาวดัตช์ก็สรุปไว้ว่าการทำโสร่งบาติกหรือโสร่งปาเต๊ะเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนติดต่อกับประเทศอินเดีย

จากการศึกษาของบุคคลต่างๆ อาจกล่าวได้ว่า แม้ว่าจะมีการค้นพบลักษณะผ้าบาติกหรือผ้าปาเต๊ะในดินแดนอื่นๆ นอกจากประเทศอินโดนีเซีย แต่ก็คงเป็นลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น วิธีการปลีกย่อยจะแตกต่างกันตามวิธีการทำผ้าของชาติต่างๆ ที่จะให้มีลวดลายสีสัน ผ้าบาติกของประเทศอินโดนีเซียเอง คงไม่ได้รับการถ่ายทอดจากชาติอื่นๆ ในทางกลับกันในระยะต่อมาการทำผ้าบาติกของประเทศอินโดนีเซียได้รับการเผยแพร่ไปยังชาติอื่นๆ ส่วนการทำผ้าโสร่งบาติกนั้น คงมีกำเนิดจากประเทศอินโดนีเซียค่อนข้างแน่นอน

ส่วนหนึ่งของประวัติที่มาของผ้าบาติกหรือผ้าปาเต๊ะที่เราอ่านอาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่น่าสนใจที่ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรอื่นๆ ในดินแดนใต้ที่นอกเหนือจากความเป็นมาของผ้าบาติกหรือผ้าปาเต๊ะเพิ่มมากขึ้น นั่นก็คือความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ของศิลปะวัฒนธรรมความเป็นอยู่ วิถีชีวิต ของคนในแถบภูมิภาคแดนใต้ ซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่น่าค้นหาและน่าไปสัมผัส ณ ดินแดนปลายด้ามขวานของประเทศไทย ประเทศไทยสวยทุกที่ เท่ทุกเวลา “amazingไทยเท่”

#indyloveเช็คอิน
#amazingไทยเท่
#ลายผ้าปาเต๊ะ

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *