มอง​ 49​ ปีความสัมพันธ์ไทย-จีน

         “สรสินธุ”ชี้ไทยยึดมั่นรับรองจีนเดียวตลอด 49 ปีมีผลสัมพันธ์แน่นแฟ้น  ปมปัญหาขาดดุลการค้าเลี่ยงไม่ได้-แข่งไม่ไหว แต่ต้องมุ่งพัฒนาเกษตรกรรมทุ่มเทพัฒนาระบบชลประทาน  แนะอย่าทำตัวเล็กแบบมีคุณค่า ปีหน้ากล้าๆคุยรัฐบาลจีน

         นายสรสินธุ ไตรจักรภพ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน  กล่าวถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน ในช่วงครบรอบ 49 ปีว่า  ในทางการเมืองคือการที่ประเทศไทยแสดงการยึดมั่นในหลักการ“จีนเดียว” เช่นเดียวกับที่สหประชาชาติให้การรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนในเวทีการทูตมาตั้งแต่ค.ศ.1971(พ.ศ.2514)  ส่วนในภาพเศรษฐกิจและสังคมนั้นด้วยพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนไทย-จีนนับแต่โบราณ ช่วง49ปีคือการร่วมสร้างกิจกรรมต่างๆที่ช่วยเพิ่มพูนความสัมพันธ์ของสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

         อย่างไรก็ตามมาถึงปัจจุบันมีการยกปัญหาไทยขาดดุลการค้ากับจีนจำนวนมาก  ซึ่งนายสรสินธุกล่าวว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหลังจากจีนเปิดประเทศจีนได้พัฒนาตัวเองเป็นโรงงานของโลก  การค้าของจีนขยายตัวมากขึ้น คนจีนรุกออกค้าขายลงทุนทั่วโลกซึ่งปัจจุบันไทยคือหนึ่งในเป้าหมายในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ  สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ มีผลให้สินค้าจีนที่เจออุปสรรคในหลายพื้นที่ถูกเทมายังตลาดอาเซียนมากขึ้นด้วย

         “ตัวเลขไทยขาดดุลจีนมากถึง 1.3 ล้านล้านบาทนั้นคงต้องตรวจสอบดูในรายละเอียดว่าเป็นการนำเข้าเพื่อส่งออกต่อหรือไม่แค่ไหน  มีการนำเข้ามาแปรรูปและทำเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเพื่อหลีกเลี่ยงนโยบายกีดกันสินค้าจีน หรืออีกส่วนหนึ่งนำเข้าเพื่อขายต่อเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน  และก็ยังมีสินค้าที่ไม่สำแดงอีกมากมาย”

         นายสรสินธุกล่าวต่อว่าไทยจะไปคิดแข่งขันกันจีน สหรัฐอเมริกา หรือยุโรปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะไทยขาดการพัฒนาทางเทคโนโลยีหรือการสร้างสรรค์นวัตกรรมของตนเอง  อุตสาหกรรมการผลิตในปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นของตกยุคหรือล้าสมัยไม่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก

         รองประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า  ทิศทางของไทยคือด้านเกษตรกรรม ต้องพัฒนาด้านชลประทานแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม  สร้างนวัตกรรมด้านการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต แปรรูปผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะตำแหน่งของประเทศไทยคือความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์  ขณะที่ประชากรโลกมีแต่เพิ่มขึ้นและอาหารคือผลผลิตที่ทั่วโลกต้องการอย่างตลอดกาล

        “ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์  ประชาชนไม่ลำบาก ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หรือที่เรียกว่าต้มยำกุ้ง  เวลานั้นที่เกาหลีใต้มีคนกระโดดตึกฆ่าตัวตายหลายราย แต่คนไทยแค่กลับบ้านไปทำการเกษตรก็ไม่อดตายเอาชีวิตรอดได้และกลับมาใหม่  นี่คือจุดแข็งของไทยที่ต้องพัฒนา   หรือดูอย่างสหรัฐอเมริกาที่ว่าเป็นชาติอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัย  แต่ก็ยังเน้นการผลิตธัญพืช ส่งถั่วเหลืองไปขายจีนซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้อไปใช้ในวงการปศุสัตว์”นายสรสินธุกล่าว

         นายสรสินธุกล่าวว่า  จีนมีแผ่นดินกว้างใหญ่แต่ไม่ใช่อุดมสมบูรณ์ทั้งประเทศแบบไทย  จีนมีพื้นที่ทะเลทราย มีปัญหาความแห้งแล้ง เกิดอุทกภัยทุกปี รัฐบาลจีนมีแผนระยะยาวทุ่มเทงบประมาณพัฒนาระบบชลประทานต่อเนื่องจนสามารถลดพื้นที่ทะเลทรายเพิ่มพื้นที่สีเขียว  แก้ภัยแล้ง ลดความรุนแรงจากอุทกภัย เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรเพิ่มผลผลิต

         ในปี2565 จีนสร้างสถิติลงทุนก่อสร้างโครงการชลประทานมากกว่า 7แสนล้านหยวน( ประมาณ 3.7 ล้านล้านบาท) สร้างเขตกักเก็บน้ำ  ระบบระบายน้ำหลาก ระบบป้องกันน้ำท่วม ผันน้ำจากใต้สู่เหนือ ตอนกลางและตะวันตก  ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรน้ำในแม่น้ำสายสำคัญของประเทศ ขณะที่ประเทศไทยผ่านมหาอุทกภัยปี 2554 ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลมาแล้ว  แต่มาถึงวันนี้ไทยมีเพียงแผนเฉพาะหน้าแก้ปัญหาฝนแล้งน้ำท่วมในแต่ละปีเท่านั้น

         นายสรสินธุกล่าวในตอนท้ายว่า ปีหน้า 2568 ถือเป็นวาระสำคัญฉลอง 50 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีน ประเทศไทยแม้จะมีขนาดพื้นที่เล็กกว่าจีนมาก  ขนาดเศรษฐกิจก็ห่างไกลจีน แต่รัฐบาลไทยก็ไม่ควรทำตัวเล็กเกินไปที่จะถือโอกาสวาระสำคัญคุยกับรัฐบาลจีนในเรื่องต่างๆที่จะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองของเรา

……………………….……………………….

www.indyreport.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *