“ช้าเป็นการ นานเป็นคุณ” สำนวนไทยนี้มิอาจนำมาใช้กับการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองในหลายๆเรื่องที่หมักหมมสั่งสมมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ เป็นเพราะว่า พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาจะเข้าสู่ปีที่ 49 แล้ว
จะมาถือหลักว่า “ค่อยๆคิดค่อยๆทำ” ดีกว่าการทำโดยเร่งด่วนคงไม่ได้ เพราะยิ่งปล่อยให้ชักช้าเนิ่นนานออกไปเท่าไร นอกจากจะไม่เป็นคุณแล้วยังจะพาให้เสียการใหญ่ ด้วยเหตุที่ว่า
ประการแรก กฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมบังคับใช้มานานเกือบครึ่งศตวรรษ ไม่ทันยุคทันสมัย และไม่สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนแปลงจากอดีตอย่างมาก อีกทั้ง การบุกรุกที่ดินของรัฐ การกระจายการถือครองที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหาเกษตรกรไร้ที่ทำกินและการบริหารจัดการที่ดินภาครัฐยังไม่เป็นระบบ ไม่มีประสิทธิภาพ
ประการที่สอง การปรับปรุงกฎหมายเดิมโดยยกเลิกพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แล้วยกร่างพ.ร.บ.ขึ้นมาใหม่ที่ดำเนินการมาตามลำดับโดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ได้เสร็จสิ้นตามกระบวนการ ใช้ชื่อว่า ร่างพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พ.ศ. …… รอเพียงแค่การเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีและเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาตราเป็นกฎหมาย
ลำดับความเป็นมา มีดังนี้
หลังจาก พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ประกาศใช้ สำนักงานส.ป.ก.ก็ดำเนินการจัดจ้างมูลนิธิสถาบันวิจัยกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทำการประเมินผลสัมฤทธิ์ พร้อมทั้งปรับปรุงพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินฯ พ.ศ. 2518 รวมถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 36/2559 และที่ 31/2560 เพื่อยกร่างพ.ร.บ.ขึ้นใหม่ทั้งฉบับและเปลี่ยนชื่อเป็นร่างพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทั้ง 4 ภาค เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย 95 % จากจำนวน 1,050 ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น
ขณะเดียวกัน สำนักงานส.ป.ก.ได้ดำเนินการเสนอร่างพ.ร.บ.ที่จัดทำขึ้นใหม่ ตามขั้นตอนมาอย่างถูกต้องและครบถ้วน เข้าสู่การพิจารณาและเห็นชอบในหลักการของหน่วยงานต่างๆตั้งแต่รัฐบาลสมัยที่ผ่านมา ได้แก่ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(คปก.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(สคทช.) และส่งถึงมือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทุกหน่วยงานเห็นพ้องต้องกันในหลักการและสาระสำคัญในร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ ที่เปรียบ เสมือนการยกเครื่องสู่การพลิกโฉมการปฏิรูปที่ดิน นั่นก็คือ
นอกเหนือไปจากการการใช้ที่ดินส.ป.ก.เพื่อเกษตรกรรมแล้ว ที่ดินบางส่วนไม่เหมาะสมในการประกอบเกษตรกรรมให้สามารถนำไปใช้ในการประกอบกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือกิจการเกี่ยวเนื่อกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเขตปฏิรูปที่ดิน เช่น ด้านพลังงาน โลจิสติกส์ กังหันลม แหล่งแร่ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินจะอยู่ในขอบเขตที่สอดคล้องกับสภาพที่ดิน พื้นที่ เศรษฐกิจและสังคม ภายใต้การบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดมูลค่าสูงสุด โดยคงหลักการสำคัญคือการใช้พื้นที่เพื่อการประกอบเกษตรกรรม
ยังไม่ทันที่จะร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่จะเข้าสู่การเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เพื่อจะเสนอต่อรัฐสภา ก็พอดีกับสภาหมดวาระเสียก่อน ปัจจุบันรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เข้าบริหารประเทศ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเข้าใจปัญหาแก่นแท้ของการปฏิรูปที่ดินฯ และสนับสนุนเรื่องนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ครั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยฯกระทรวงเกษตร ทำให้การเดินหน้าสานต่อเพื่อให้การตรากฎหมายออกมาบังคับใช้ไม่น่าจะเกินวิสัย
แหล่งข่าวจากสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้างให้ความเห็นว่า เนื่องจากสภาพแวดล้อมหลายอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ที่ดินในเขตพื้นที่ส.ป.ก.ควรใช้ประโยชน์ในกิจการอื่นตามความเหมาะสมของพื้นที่ เช่น สถานที่ท่องเที่ยว ร้านค้า โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร ที่อยู่อาศัย เป็นต้น นอกจากจะสร้างรายได้ให้ประชาชนและผู้ประกอบการแล้ว รัฐยังมีรายได้จากภาษี ซึ่งส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย
ดังนั้น ควรจะรีบดำเนินการขณะที่วุฒิสภาชุดปัจจุบันยังอยู่ในวาระอีก 5 เดือนข้างหน้า ขณะนี้
สภาก็เปิดสมัยประชุมแล้วยังมีเวลาทำงานถึงกลางเดือนเมษายน 2567
หากสามารถผลักดันให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้โดยเร็ว ย่อมถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลนายเศรษฐาและร.อ.ธรรมนัส ในการปลุกเศรษฐกิจด้วยการปฏิรูปที่ดินฯ
…………….…………………………..…….…