(จากซ้ายไปขวา) กรรมการสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง น.ส.พัชรินทร์ เกียรติผดุงกุล น.ส.โชติกา โชติกานนท์ ดร.วิจักษ์ พงษ์เภตรา นายพรสิทธิ์ ด่านวนิช
ทึ่ปรึกษาสมาคมสินแร่ฯเสนอ 4 มาตรการให้รัฐบาล ”เศรษฐา” เร่งปลดล็อคปัญหาธุรกิจแร่ยิปซัมส่งออกถดถอย เผยถูก 4 บริษัทรายใหญ่โอมานรวมหัวตั้งบริษัทกลางกดราคาแย่งตลาดลูกค้าไทย แนะแก้ไขระเบียบออกประทานบัตรเร็วขึ้นและการใช้ทรัพยากรแร่ในพื้นที่ส.ป.ก.
นางสาวโชติกา โชติกานนท์ ที่ปรึกษาสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้างเปิดเผยว่า ธุรกิจแร่ยิปซัมของผู้ประกอบการไทยกำลังส่อเค้าจะเกิดวิกฤติในด้านการส่งออกไปขายตลาดต่างประเทศ เนื่องจากด้านประเทศโอมาน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ใช้กลยุทธ์การตลาดกดราคาแร่ต่ำเพื่อแย่งลูกค้าจากผู้ส่งออกไทย
ทั้่งนี้ได้รับข้อมูลยืนยันว่า 4 บริษัทรายใหญ่ของโอมาน ประกอบด้วย Global Mining, Kunooz, Dhofar Mining, AL Jood Natural Resources รวมกำลังการผลิต 10 ล้านตัน ได้จับมือกันตั้่งบริษัทกลางชื่อ บริษัท Salalah Resources Gypsum Co.L.L.C จดทะเบียนกระทรวงพาณิชย์ กำหนดราคาแร่ยิปซัมโดยรักษาระดับ FOB ขั้นต่ำ 11 USD/MT ส่งออกให้ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในทวีปแอฟริกากลาง เอเชียกลาง เช่น อินเดีย บังคลาเทศ และอาเซียนเช่น เวียดนาม อินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ
ปี 2561 โอมานมียอดการส่งออกแร่ยิปซัม 7.5 ล้านตัน และขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึงปี 2565 ที่ยอดส่งออกแร่ยิปซัมของโอมานมากถึงระดับ 10 ล้านตัน โดยใช้เรือขนส่งขนาดใหญ่ 60,000 – 80,000 ตันต่อลำ
สำหรับประเทศไทยในระหว่างปี 2560-2562 มียอดการส่งออกแร่ยิปซัมเฉลี่ยประมาณ 6 ล้านตันต่อปี มูลค่าประมาณปีละ 4,200 ล้านบาท แต่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาตัวเลขการส่งออกลดลงโดย ปี 2563 ส่งออกปริมาณ 4.2 ล้านตัน มูลค่าส่งออก 2,674,673,956 บาท (FOB) ปี 2564 ส่งออกปริมาณ 5 ล้านตัน มูลค่าส่งออก 3,214,936,921 บาท (FOB) ปี 2565 ปริมาณ 4.5 ล้านตัน มูลค่า 3,315,612,742 บาท ปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมียอดส่งออกเพียง 3.5 – 3.8 ล้านตัน ลดลงประมาณ 11% – 15% จากปี 2565
ที่ปรึกษาสมาคมสินแร่ฯกล่าวอีกว่า การที่โอมานป่วนตลาดแร่ยิปซัมเช่นนี้สร้างผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกแร่ของไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องแก้ไขเป็นการด่วน โดยขอเสนอดังนี้ 1. มีนโยบายช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการให้ลดต้นทุนการผลิตตลอดห่วงโซ่การผลิตและส่งออก 2. สนับสนุนการขอประทานบัตร 3. สนับสนุนการใช้ทรัพยากรแร่ในพื้นที่ ส.ป.ก. 4. สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้แข่งขันได้
“ผู้ประกอบการแร่ โดยเฉพาะแร่ยิปซัมประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสมาร่วม 10 ปีแล้ว ช่วง 3 – 4 ปีที่เกิดโรคระบาดโควิดได้ซ้ำเติมให้หนักหนามากขึ้น เมื่อมาเจอโอมานกดราคาแร่ทำให้ไทยต้องสูญเสียตลาด สมาคมสินแร่ฯ เห็นว่าการที่ผู้ประกอบการไทยจะอยู่รอดได้และมีส่วนช่วยฟื้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน การพัฒนาชุมชนท้องถิ่น การเสียค่าภาคหลวง จ่ายภาษีเงินได้ให้กับรัฐ ควรที่รัฐบาลในยุคนี้จะยื่นมือเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วนเช่นเดียวกับการช่วยผู้ประกอบการในภาคอื่นๆ”นางสาวโชติกากล่าวทิ้งท้าย
………………………………………………