ในห้วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เผชิญกับอุบัติภัยและภัยพิบัติครั้งใหญ่ในหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งยังได้สร้างความสูญเสียต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก ทั้งจากภัยธรรมชาติ จากอุบัติที่ไม่คาดคิด ซึ่งหลายต่อหลายครั้งเมื่อเกิดเหตุแล้วมักมีหน่วยงานออกมาถอดบทเรียนเพื่อเสนอแนวทางแก้ไขสำหรับกรณีต่างๆ เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวซ้ำรอย
เช่นเดียวกับ สภาวิศวกร (COE: Council of Engineering) หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานวิชาชีพของวิศวกรไทย ตลอดจนแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการเพื่อเสนอแนะต่อภาครัฐ เอกชน และประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกครั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิศวกรรม สภาวิศวกร จะทำหน้าที่ประสานหน่วยงานท้องที่และหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมเพื่อหารือหรือกระทั่งลงพื้นที่เพื่อสำรวจความเสียหายโดยเร็วที่สุด เพื่อหาข้อสรุปของเหตุการณ์ตามหลักวิชาการด้านวิศวกรรม ซึ่งหากย้อนไทม์ไลน์ของการเกิดเหตุการณ์ครั้งใหญ่ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา สามารถสรุปรวมได้ 5 เหตุการณ์ ซึ่งนำไปสู่ 5 ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ รวมถึงเป็นกรณีศึกษา (Case Study) แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขอย่างยั่งยืนในมิติต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ยก ‘แผนฟื้นฟูป้องกันน้ำท่วมแบบยั่งยืน’ ป้องกันเหตุซ้ำรอย
หลังพี่น้องชาวอุบลฯ เผชิญน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปี
ช่วงเดือนตุลาคม 2562 ทางสภาวิศวกรพร้อมด้วยวิศวกร ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายจังหวัดอุบลราชธานีใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองและอำเภอวารินชำราบ หลังเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปี โดยท่วมสูงกว่า 6 เมตร ที่ได้สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนประชาชนจำนวนมาก จึงได้นำเสนอ แผนแก้ไขและฟื้นฟูจังหวัดอุบลราชธานีในระยะยาวแก่พ่อเมืองจังหวัด ใน 3 ประเด็นดังนี้ 1. ติดตั้งระบบเตือนภัย เพื่อแจ้งเตือนประชาชนในการขนย้ายหรืออพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างรวดเร็ว 2. เสริมตลิ่งสูงบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำให้สูงขึ้นกว่า 4 เมตรเพื่อเพิ่มปริมาตรในการรองรับน้ำ 3. ทำระบบท่อระบายน้ำ ที่เชื่อมไปยังแหล่งระบายน้ำขนาดใหญ่ หรือแก้มลิง เพื่อเป็นการเร่งระบายน้ำพร้อมทั้งป้องกันน้ำเอ่อล้นตลิ่ง นอกจากนี้ สภาวิศวกรยังได้มอบ “ไกด์บุ๊คสำรวจซ่อมแซมบ้าน ฉบับชาวบ้านผู้ประสบอุทกภัย” ที่ปัจจุบันสามารถดาวน์โหลดมาอ่านได้ผ่านเว็บไซต์สภาวิศวกร (www.coe.or.th)
- ย้ำรัฐบังคับใช้ ‘กฎหมายควบคุมภาษีฝุ่น และ ลงทุนงานวิจัย’
จากกรณีฝุ่น PM2.5 ที่ยังเป็นปัญหากวนใจคนไทยมากกว่า 2 ปี
ตลอดสองปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2563 สภาวิศวกร ได้ตระหนักถึงภัยพิบัติระดับชาติอย่างฝุ่น PM2.5 ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นต่อเนื่องทุกปี อีกทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ จากปัจจัยด้านการปล่อยควันดำของรถยนต์ส่วนบุคคลของประชาชนที่ยังคงเป็นเครื่องยนต์รุ่นเก่า ด้านการขยายตัวของงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีปริมาณของรถบรรทุกวิ่งเข้าและออกเสมอ จึงได้ผนึกความร่วมมือกับนักวิชาการจากทั้งภาครัฐและภาคการศึกษา สู่การย้ำเตือนภาครัฐ ให้เร่งบังคับใช้กฎหมายเก็บภาษีรถยนต์ที่ปล่อยควันดำ จำกัดปริมาณรถบรรทุกในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมแจ้งปรับเครื่องยนต์เป็น EURO 5-6 รวมถึงลงทุนกับงานวิจัยและเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาฝุ่นดังกล่าว ผ่านการจัดสรรงบประมาณให้กับนักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญไทยได้ดำเนินการต่อ ซึ่งนั่นนอกจากจะเป็นการช่วยชาติลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศแล้ว ยังสร้างแวดล้อมที่ยั่งยืนได้อีกด้วย
- แนะออก ‘กฎกระทรวง’ บังคับใช้มาตรฐานก่อสร้างอาคารที่พร้อมรองรับแผ่นดินไหว
กรณี แผ่นดินไหวจาก สปป.ลาว สู่ความสั่นไหวของตึกสูงในกรุงเทพฯ
ต่อเนื่องกับช่วงปลายปี 2562 ชาวเชียงใหม่และกรุงเทพฯ สัมผัสได้ถึงความสั่นไหวเมื่ออยู่บนตึกสูง จากกรณีที่ประเทศเพื่อนบ้าน ‘สปป.ลาว’ เกิดแผ่นดินไหวต่อเนื่องจากระดับต่ำสุดที่ 2.9 ริกเตอร์และสูงสุดที่ 6.4 ริกเตอร์ สภาวิศวกร จึงได้มีการหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยมีการเสนอให้กระทรวงมหาดไทย ออก ‘กฎกระทรวง’ ฉบับใหม่ เพื่อรับรองความสามารถของอาคารในการต้านทานต่อแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พร้อมเสนอให้บรรจุพื้นที่เสี่ยงภัยจากแผ่นดินไหวทั่วประเทศ อันนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานการก่อสร้างอาคารรูปแบบใหม่เพื่อรองรับแผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ สภาวิศวกร ยังมีแนวทางเพื่อช่วยเหลือภาคประชาชนรับมือกรณีดังกล่าวใน 3 แนวทางดังนี้ 1. จัดอบรมให้ความรู้ 2. จัดแผนตรวจสอบอาคารตามความเสี่ยง โดยเฉพาะอาคารเก่า และ 3. ติดตั้งสถานีวัดแรงสั่นสะเทือน พร้อมแจ้งเตือนประชาชน
- กระทุ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ‘เชื่อมโยงเดต้าท่อส่งก๊าซ-ผังเมืองร่วมกัน’
กรณีท่อส่งก๊าซระเบิดย่านบางบ่อ กระทบสถานีตำรวจ-โรงเรียน-ครัวเรือนใกล้เคียง
อีกหนึ่งเหตุการณ์ในปี 2563 ที่ได้สร้างความรุนแรงและความเสียหายแก่สถานที่ราชการทั้งสถานีตำรวจ โรงเรียน ตลอดจนบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก กับเหตุการณ์ท่อลำเลียงก๊าซระเบิด บริเวณถนนรัตนโกสินทร์ 200 ย่านบางบ่อ จ.สมุทรปราการ ซึ่งสภาวิศวกรพร้อมด้วยวิศวกรอาสา ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายและประเมินถึงปัจจัยเสี่ยงของเหตุดังกล่าว พบว่าท่อส่งก๊าซถูกจัดวางในพื้นที่ที่ปลอดภัยแล้ว แต่ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยในอนาคต สภาวิศวกร จึงมีข้อเสนอแนะให้กระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยกรมทางหลวงชนบท กระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรุงเทพฯ เชื่อมโยงข้อมูลการวางผังท่อส่งก๊าซและโครงสร้างผังเมืองร่วมกัน เพื่อให้การขยายเขตพื้นที่เมืองอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันเต็มไปด้วยความปลอดภัย
- เสนอ ‘แผนป้องกันภัยระยะยาว’ ใน 6 ข้อสำคัญ
กรณี โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก เกิดเพลิงไหม้นาน 25 ชม.
สำหรับกรณีโรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติกย่านกิ่งแก้วที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ยาวนานกว่า 25 ชั่วโมงในปี 2564 ที่ผ่านมานั้น ได้ก่อให้เกิดแรงระเบิดที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง และสูญเสียต่อวงการนักผจญเพลิงแบบประเมินค่ามิได้ สภาวิศวกร จึงได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรและนักวิชาการ ร่วมวางแนวทางป้องกันอัคคีภัยในระยะยาว สู่การยื่นข้อเสนอภาครัฐใน 6 ประเด็นดังนี้ 1. ต้องมีมาตรการเฝ้าระวังเหตุต่อเนื่อง 2. ต้องติดตั้งสถานีวัดคุณภาพอากาศ 3. ต้องจัดทำบัญชีฐานข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นปัจจุบัน 4. ต้องมีผังโครงสร้างโรงงานโดยละเอียด 5. ต้องมีนโยบายบริหารจัดการให้กับโรงงานอย่างเป็นธรรม และ 6. ต้องมีการจัดอบรมให้ความรู้แก่นักผจญเพลิง
รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ นายกสภาวิศวกร เผยว่า “สภาวิศวกร ในฐานะหน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทย ที่มีหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานวิชาชีพวิศวกรไทย ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม รับรองความรู้ความชำนาญของวิศวกรก่อนเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรม รับรองปริญญา ประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ตลอดจนเสนอแนะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดและการเลิกสาขาวิศวกรรมควบคุม ยังคงยึดมั่นในการช่วยเหลือสังคมพร้อมทั้งอยู่เคียงข้างคนไทย ผ่านการให้บริการงานด้านวิชาการ, การส่งทีมวิศวกรอาสาลงพื้นที่สำรวจกรณีเกิดอุบัติภัยที่ได้สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง, กรณีความไม่ปลอดภัยในการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในภาคประชาชน ตลอดจนเปิดสายด่วน 1303 รับปรึกษาปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิศวกรรมแก่ทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง”
ติดตามความเคลื่อนไหวของการแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้าง และการช่วยเหลือประชาชนภายใต้หลักการทางวิศวกรรมของสภาวิศวกรได้ทางเพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/coethailand และเว็บไซต์ www.coe.or.th
…………………………………………………..
📍www.indyreport.com