🔴 NIA : The Next 10 Years เผยยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนวัตกรรมปี 2562 ขานรับไทยแลนด์ 4.0

 

เอ็นไอเอ ยืดอกปี 61 พัฒนาธุรกิจนวัตกรรมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2 พันล้าน ตั้งเป้าหมายเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 62 ขับเคลื่อนโดยคน “GEN M” ดันไทยก้าวสู่ “ประเทศแห่งนวัตกรรม” ชูภาพองค์กรยุคใหม่สู่การเป็น “เทรนด์เซ็ตเตอร์” พลิกโฉมหน่วยงานรัฐในศักราชใหม่

 

 

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ณ Skylight ชั้น 36 โรงแรมอนันตรา สาธร กรุงเทพฯ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยผลสำเร็จการดำเนินงานในปี 2561 ซึ่งได้สนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมไปทั้งสิ้น 193 โครงการ ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท พร้อมเปิดตัวทีมผู้บริหาร สรุปผลการดำเนินงานปี 2561 นำโดย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ นางธีรีสา มัทวพันธุ์ รองผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์องค์กร สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นอกจากนี้ NIA ยังโชว์ยุทธศาสตร์การดำเนินงานในปี 2562 มุ่งเดินหน้าการพัฒนานวัตกรรมให้สอดรับกับนโยบายประเทศไทย 4.0 พร้อมผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็น “Innovation Nation”

 

 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า การดำเนินงานของ NIA ในปี 2561 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ โดยมีการขยายขอบเขตงานให้ครอบคลุมการพัฒนาระบบนวัตกรรมแห่งชาติอย่างรอบด้านเพื่อตอบสนองต่อบริบทการเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรมในอนาคตของโลกที่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย โดยเน้นการพัฒนาองค์ประกอบสำคัญ 5 มิติ ได้แก่ 1. ผู้ประกอบการนวัตกรรม 2. วิสาหกิจและองค์กรนวัตกรรม 3. ตลาดทุนและการลงทุน 4. นวัตกรและงานแห่งอนาคต และ 5. ตลาดและอัตลักษณ์นวัตกรรมของชาติ เพื่อยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมเพื่อการแข่งขันในเวทีโลก และนวัตกรรมสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการสร้างแรงบันดาลใจทางนวัตกรรมในระดับเยาวชน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น และ ภูมิภาคต่างๆ ในการเพิ่มโอกาสในการสร้างและการเข้าถึงนวัตกรรมให้เป็นไปอย่างทั่วถึง การสร้างการรับรู้ด้านนวัตกรรม สร้างความตื่นตัวด้านนวัตกรรมและสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประชาสังคม การพัฒนานวัตกรรมข้อมูล โดยอาศัยการสำรวจ ศึกษา วิเคราะห์ และประเมินทางวิชาการ เพื่อแสวงหาโจทย์ แนวโน้ม และประเด็นการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบความต้องการของประเทศ รวมถึงการสร้างระบบและเครื่องมือการพัฒนาและประเมินผลที่สนับสนุนการดำเนินงานในด้านอื่นๆ ผ่านการพัฒนาสารสนเทศนวัตกรรม

 

 

ในปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมเชิงเศรษฐกิจที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก NIA จำนวน 193 โครงการ แบ่งเป็น นวัตกรรมมุ่งเป้า 17 โครงการ มูลค่าการสนับสนุน 46.5 ล้านบาท ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุน 257.4 ล้านบาท และนวัตกรรมแบบเปิด 176 โครงการ มูลค่าการสนับสนุน 180.9 ล้านบาท ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุน 2,253.5 ล้านบาท สำหรับกลุ่มนวัตกรรมเพื่อสังคมจะเน้นตอบโจทย์การยกระดับสังคม ชุมชน ให้เกิดความยั่งยืนผ่านกลไกต่างๆ ทั้งในรูปแบบองค์ความรู้ เครือข่าย และเงินทุน โดยปีที่ผ่านมาสนับสนุนโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมจำนวน 39 โครงการ เกิด 15 เครือข่าย สร้างผลกระทบเชิงสังคม 208.56 ล้านบาท นอกจากนี้ ในส่วนของการพัฒนา “ย่านนวัตกรรม” ก็เริ่มที่จะเห็นเป็นรูปธรรมที่เด่นชัดมากขึ้น เช่น ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี และย่านนวัตกรรมปุณณวิถี นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางด้านนวัตกรรมที่สำคัญ ได้แก่ งาน Startup Thailand 2018 ภายใต้แนวคิด Endless Opportunities ซึ่งมีผู้ร่วมงานกว่า 50,000 คน เกิดเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 50,000 ล้านบาท พร้อมด้วยครั้งแรกของ 3 กิจกรรม ได้แก่ District Summit ที่ทำให้ทุกคนได้รู้จักการพัฒนาย่านนวัตกรรม งาน Thailand Innovation Expo 2018 และ Government Procurement Transformation ที่ส่งเสริมการพัฒนาการจัดซื้อจัดจ้างของตลาดภาครัฐสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น เพื่อเป็นตลาดซื้อขายที่สำคัญสร้างความเข้มแข็งให้กับของสตาร์ทอัพและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการและการเข้าถึงด้านข้อมูลของภาครัฐ รวมไปถึงยังได้เป็นส่วนสำคัญที่ได้ร่วมผลักดันให้ไทยได้รับการจัดอันดับนวัตกรรมขึ้นสู่อันดับที่ 44 จากเดิมที่อยู่อันดับ 51 ในปี 2560

 

 

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนการดำเนินงานในปี 2562 ยังคงเดินหน้าการพัฒนานวัตกรรมให้สอดรับกับยุทธศาสต์ประเทศไทย 4.0 พร้อมมุ่งผลักดันให้ไทยเข้าสู่การเป็น “Innovation Nation” หรือ ประเทศแห่งนวัตกรรม และเพื่อสร้างโอกาสและความแตกต่างให้เกิดเป็นผลผลิตที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจ NIA จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานเพื่อมุ่ง “สร้าง” ความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่นำไปสู่การเติบโตทางนวัตกรรมของประเทศ และเป็นไปอย่างสอดคล้องและก้าวทันการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะประกอบด้วย “สร้างความเข้มแข็งระบบนวัตกรรมแห่งชาติ” ผ่านการเชื่อมโยงภาคเอกชน ภาครัฐ การศึกษาและประชาสังคม รวมทั้งเร่งพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมเพื่อสร้างระบบนวัตกรรมที่เข้มแข็งจากพื้นฐาน “สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรม” รวมทั้งพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตและเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรม และ “สร้างคุณค่าใหม่ทางนวัตกรรม” เพื่อเตรียมความพร้อมและยกระดับศักยภาพทางนวัตกรรมสำหรับอนาคต ทั้งในระดับบุคคล องค์กรและประเทศ ผ่านการสร้างการรับรู้ องค์ความรู้และเครื่องมือทางนวัตกรรม ทั้งนี้ การดำเนินงานทั้งหมดยังได้วางเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวสู่ 1 ใน 30 อันดับประเทศแรกของโลกที่มีการพัฒนานวัตกรรมอย่างยอดเยี่ยมภายในปี 2030

 

 

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า ในการดำเนินงาน ยังได้วางวิสัยทัศน์ในการเป็นองค์กรที่มุ่งเสริมสร้างความสามารถทางนวัตกรรมผ่านระบบนวัตกรรม ซึ่งในปัจจุบัน NIA ถือเป็นองค์กรของคนรุ่นใหม่เพราะบุคลากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนในกลุ่ม Gen M หรือ Millennials ดังนั้น จึงต้องมีวิธีการส่งผ่านดีเอ็นเอที่แตกต่างไปจากหน่วยงานอื่นๆ นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพัฒนาองค์กรให้เป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่ในกลุ่ม Gen M หรือ Millennials ที่ใช้ความชื่นชอบ หรือ Passion เป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งเปิดโอกาสให้บุคลากรได้พัฒนางานในสิ่งที่แต่ละคนสนใจ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองและฝึกให้เป็นผู้นำจากองค์ความรู้เฉพาะทางในด้านนวัตกรรมที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น และสร้างรูปแบบการทำงานให้เป็นระบบ พร้อมก้าวสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมที่เปี่ยมด้วยความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้นในลำดับต่อไป

 

 

ด้านนายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ  (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ด้านการนำนวัตกรรมไปใช้ยกระดับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ จะมุ่งพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันเศรษฐกิจในอนาคต ผ่านรูปแบบต่างๆ อาทิ การต่อยอดผลงานวิจัยที่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน การสนับสนุนทุนให้เปล่า การเชื่อมโยงเครือข่ายนักนวัตกรรมและผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ฯลฯ โดยได้วาง 6 เป้าหมายธุรกิจที่มีผลกระทบเชิงบวกและสนับสนุนการพัฒนาประเทศที่จะต้องเร่งพัฒนาเพิ่มเติม ได้แก่ ธุรกิจนวัตกรรมสมุนไพรเพื่อกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ธุรกิจนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ ธุรกิจนวัตกรรมอาหารทางการแพทย์ ธุรกิจนวัตกรรมด้านสมาร์ทโลจิสติกส์และการใช้ IoT ในกระบวนการผลิต ธุรกิจนวัตกรรมการป้องกันประเทศและความมั่นคง และธุรกิจนวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยว

 

 

 

ส่วนในการนำนวัตกรรมเพื่อยกระดับสังคม จะให้ความสำคัญต่อประเด็นการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ และสาขาธุรกิจเพื่อสังคมที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความทั่วถึงและเท่าเทียมกันมากขึ้นในประเด็นนวัตกรรมเชิงสังคมด้านต่างๆ อาทิ ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้านความเชื่อมโยงระหว่าง อาหาร น้ำ และพลังงานด้านภาครัฐและการศึกษา ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ด้านการจัดการภัยพิบัติตามที่แต่ละพื้นที่ประสบ ซึ่งในการส่งเสริมด้านดังกล่าวมีแนวทางการดำเนินงานหลากหลายกิจกรรม เช่น  “โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Village)” โครงการนโยบายวิทย์แก้จน ซึ่งจะมุ่งพัฒนากลุ่ม 10 จังหวัดที่ยากจนที่สุดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

 

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ http://www.nia.or.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *