🔴 อพท. ร่วมกับ ช.ส.ท. นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ “สุพรรณ” สร้างการรับรู้ ดันสุพรรณเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีของยูเนสโก

เมื่อวันที่ 11-12 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) นำคณะสื่อมวลชนจาก ชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว (...) กว่า 30 ชีวิต นำโดย คุณวรางคณา สุเมธวัน ประธานชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว ลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี สร้างการรับรู้ สุพรรณเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี ที่มีความโดดเด่นในเรื่องดนตรีอยู่ในสายเลือดสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น สะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันทางด้านดนตรีของคนในจังหวัดนี้ที่มีอยู่ในสายเลือดและ DNA สืบทอดกันมา กลายเป็นสายธารดนตรีที่ยิ่งใหญ่ 5 สายธาร คือ เบญจภาคีดนตรีสุพรรณ ได้แก่ เพลงไทยเดิม เพลงพื้นบ้าน เพลงลูกทุ่ง เพลงเพื่อชีวิต และเพลงสตริงป๊อบร็อค มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น รวมทั้งวิถีชีวิตที่มีเพลงและดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องกับคนสุพรรณบุรีตั้งแต่เกิดจนตาย ทำให้สุพรรณเป็น เมืองดนตรี (Music City)” โดย (อพท.) มีแนวคิดที่จะใช้ดนตรีเป็นเป้าหมายในการก้าวสู่การเป็นเมืองที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล  นำไปสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ( Creative Cities Network) ทางด้านดนตรีของยูเนสโก้ และการพัฒนาเมืองสุพรรณให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

โดยกิจกรรมในวันแรกเยือนถิ่นสุพรรณ เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี คณะสื่อมวลชน (...) กว่า 30 ชีวิตออกเดินทางจาก อาคารทริปโก้ ถนนพระราม 6 พญาไท กรุงเทพ เวลาประมาณ 8.00 . มุ่งสู่จังหวัดสุพรรณบุรีถิ่นกำเนิดศิลปินเพลงชั้นครูและดนตรีตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยจุดหมายแรก คือ วัดป่าเลไลย์กราบสักการะหลวงพ่อโตเยี่ยมชมภาพจิตรกรรมฝาผนังกำแพงโบสถ์ ที่เล่าเรื่องราวของวรรณกรรมพื้นบ้าน “ขุนช้างขุนแผน” เดินชมแล้วย้อนนึกถึง ครูแจ้ง คล้ายสีทอง บรมมาครูขับกรับและเสภา

โดย  ดร.สมจินต์ ชาญกระบี่ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง มอบหมายให้ คุณสุวภัทร ดำมณี เจ้าหน้าที่พัฒนาพื้นที่พิเศษ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 7 และคณะให้การต้อนรับ พร้อมรับฟังการบรรยายจากวิทยากร

หลังจากนั้นเดินทางไปยัง บ้านครูจิราภรณ์ เรือจ้างที่ใช้ใจสร้างลูกศิษย์จากอดีตถึงปัจจุบันชมเครื่องดนตรีและของสะสมสุดหวง พี่พร้อมจะจัดแสดงให้คนรุ่นหลังได้รู้จักและเรียนรู้เครื่องดนตรีไทย  รับฟังการบรรเลงดนตรีไทยระดับชั้นครูอันไพเราะ พร้อมร่วมรำวงอย่างสนุกสนาน ณ เรือนไทยหลังงาม ตอกย้ำความเป็นสุพรรณเมืองสร้างสรรค์ทางดนตรี ที่มีมาอย่างช้านานสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น


เดินทางไปร่วมรับประทานอาหารที่ร้าน Playground Bristo .สุพรรณบุรี ร้านนี้มีดีทั้งดนตรีและอาหารบรรยากาศชิลล์ๆ มีดนตรีแสดงสดให้ชมและฟัง ตกแต่งร้านได้อย่างน่ารัก สบายๆ อิ่มอร่อยกับอาหารหลากหลายเมนู ให้ได้นั่งผ่อนคลาย เพลิดเพลินกับอาหารและดนตรี เรียกว่ามาสุพรรณทั้งทีไม่ขาดสีสันแห่งดนตรีแน่นอน

จากนั้นเดินทางไปยัง ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนา นาเฮียใช้ สุพรรณบุรี ที่นี่นอกจากจะเป็นศูนย์การเรียนรู้การทำนาให้ได้มาเรียนรู้ นาเฮียใช้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจที่หลายคนนิยมเดินทางมาทีองเที่ยวอีกด้วย และครั้งนี้เราได้พบกับ คุณแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) ที่เริ่มถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับคนรุ่นหลัง โดยเล่าให้สื่อมวลชนฟังถึงความภูมิใจในเพลงพื้นบ้านไทยที่เตรียมจะโด่งดังไกลระดับสากล และมุมมองเรื่องเพลงและดนตรีกับวิถีชีวิตของคนสุพรรณบุรี

สำหรับกิจกรรมวันที่สองออกเดินทางไปชม “คุ้มขุนแผน” ในบรรยากาศที่ร่มรื่นติดริมแม่น้ำท่าจีน  บ้านเรือนไทยที่ปลูกขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ชมได้ศึกษารูปแบบของเรือนไทยที่สวยงามและทรงคุณค่า รวมถึงรูปปั้นประติมากรรมของบุคคลที่มีชื่อเสียงในด้านดนตรีและในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นคนสุพรรณและเป็นปูชนียบุคคล ให้ได้ชมและรับรู้ถึงประวัติ ร่วมร้องเพลงและฟังดนตรีในสวนชมนิทรรศการ 10 รอบปี ครูมนตรี ตราโมท ศิลปินและครูดนตรีคนแรกของจังหวัดสุพรรณบุรี

พร้อมชมผลงานสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรม ชื่อ “ลำนำไทยเดิม” จาก คุณกานต์ชลี สุขสำราญ อาจารย์ประจำวิทยาลัยช่างศิลป์สุพรรณบุรี โดยได้แรงบันดาลใจจากความประทับใจในชีวิตวัยเยาว์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในเรื่องเกี่ยวกับดนตรีไทยและชีวิตอยู่กับสายน้ำโดยใช้เส้นทางคมนาคมเป็นเส้นทางน้ำโดยตลอด และชีวิตก็เกี่ยวพันกับดนตรีไทย ได้เห็นการซ้อมดนตรีไทยและเสียงดนตรีไทยก็ทำให้เกิดความประทับใจ ทำให้รู้สึกถึงความสงบร่มเย็น ความรัก และการเดินทางทางสายน้ำก็ทำให้เห็นถึงชีวิตและรากฐานของความเป็นไทย รวมถึงศิลปะวัฒธรรมของไทย

“เป็นเรื่องบังเอิญที่งานศิลปะที่เรียนมาสอดคล้องกับทางด้านดนตรีไทย ได้เห็นความงามของเครื่องดนตรีไทย จึงได้นำรูปทรงของเครื่องดนตรีไทยมาสร้างสรรค์ โดยชื่นชอบรูปทรงของฆ้องวงเป็นพิเศษ จึงนำมาสร้างผลงาน โดยมี ครูมนตรี ตราโมท เป็นครูทางด้านดนตรีไทยและท่านได้เล่นดนตรีชนิดนี้ด้วย จึงศึกษาข้อมูลของฆ้องวงไม่ว่าจะเป็นวงเล็กหรือวงใหญ่ นำมาสร้างผลงาน เป็นการเชื่อมโยงทางด้านศิลปะวัฒนธรรมของไทย ความร่วมสมัย จึงกลายเป็นผลงานสร้างสรรค์ชิ้นนี้ขึ้นมา โดยนำรูปทรงของฆ้องวงมาประยุกต์ทำให้เกิดเส้นที่ลื่นไหลให้ผิดแผกไปจากฆ้องวงในรูปแบบเดิม สื่อถึงสายน้ำทำให้เกิดความสบาย สงบ และความสูงต่ำโค้งนูน ทำให้รู้สึกถึงความนุ่มนวล ความอบอุ่นของขุนเขาด้วย ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องของการฟังดนตรีด้วย เป็นการบูรณาการระหว่างดนตรีและทัศนศิลป์ค่ะ” คุณกันต์ชลี กล่าว

นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงคือ “วัดแค” ที่มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวเนื่องกับเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ภายในบริเวณ ยังมีมะขามยักษ์  อายุ ,๐๐๐ ปี มะขามยักษ์วัดแค ที่มีตัวละครและสถานที่อยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี และรูปปั้นอาจารย์คงที่อยู่บนตัวแต่อแตนยักษ์ วัดและพระอาจารย์ที่ขุนแผนมาบวชร่ำเรียนวิชาคาถาอาคม รวมทั้งต้นมะขามยักษ์ที่ขุนแผนเสกเป็นตัวต่อแตน เพื่อเข้าโจมตีข้าศึก ให้ได้ชมอีกด้วย

หลังจากนั้นออกเดินทางไปยังอำเภออู่ทองกลับสักการะ พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ (หลวงพ่ออู่ทอง)” พุทธมณฑลประจำจังหวัดสุพรรณบุรี เขาทำเทียม อำเภออู่ทอง พุทธมณฑลประจำจังหวัดสุพรรณบุรี เขาทำเทียม และภูผามังกรบิน เขตโบราณสถานเมืองอู่ทอง .อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่กำลังเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของชาวพุทธในประเทศไทย


ปิดท้ายกิจกรรมด้วยการเดินทางไปร่วมรับประทานอาหารที่
บ้านดงเย็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์อร่อยกับอาหารบ้านๆ อาหารปลอดสาร ปลอดภัยไร้กังวลที่บ้านดงเย็น คนในชุมชนมีการทำการเกษตร ปลูกผักปลอดสารพิษ ใช้แนวคิดแบบเกษตรอินทรีย์ เดินตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

ซึ่งทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้เล็งเห็นศักยภาพของทางชุมชนจึงได้สนับสนุนและสร้างองค์ความรู้ให้คนในชุมชนจนกลายเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์และมีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดงเย็นเพื่อนพึ่งภาฯ เป็นเครือข่ายการปลูกพืชผลทางการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี ใช้น้ำหมักตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นการเกษตรแบบพึ่งตนเอง

คุณวรางคณา สุเมธวัน ประธานชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว (...)​ กล่าวว่าถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่เราจะส่งสุพรรณบุรีเข้าชิงตำแหน่ง เมืองสร้างสรรค์โลกทางด้านดนตรี ก็อย่างที่สื่อมวลชนทุกคนได้มองเห็นแล้วว่าศักยภาพทางด้านการดนตรีของจังหวัดสุพรรณบุรีพร้อมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวทั้งเรื่องวรรณคดี ประวัติศาสตร์ และ วิถีชีวิตชุมชน ปัจจุบันเรามีเพลงพื้นบ้าน เพลงเพื่อชีวิต เพลงสากล ระดับต่างๆ ขึ้น ที่กำเนิดของผู้สร้างสรรค์งานดนตรีเหล่านั้น นอกจากนั้นสิ่งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม สิ่งที่สุดยอดของเราก็คือในเรื่องราวของ ขุนช้างขุนแผน ซึ่งสามารถนำมาเผยแพร่ออกมาอีกด้านหนึ่ง เป็นศิลปะเป็นวิถีไทยที่มีคุณค่ายิ่งทั้งหมดนี้เชื่อว่าเราจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของบรรดาประเทศต่างๆ ที่ส่งเข้าชิงรางวัลนี้ด้วยกัน

ดังนั้นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ก็ดี การช่วยกันช่วยกันผลักดันในเรื่องของการทำสุพรรณบุรีให้เป็นเมืองดนตรีก็ดี ก็คงจะเป็นอีกหน้าที่หนึ่งของสื่ออย่างพวกเราที่จะต้องช่วยกันเขียน ช่วยกันผ่านความคิดนี้ไปสู่ทุกกลุ่มให้ได้เพื่อที่สุดแล้วเราจะกลายเป็นเมืองมรดกโลกทางด้านดนตรีที่ยิ่งใหญ่ของยูเนสโกค่ะ

สำหรับผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 นั้น อย่างที่ทราบพิษสงของโควิด 19 มีผลกระทบมากมาย เรายังไม่รู้ว่าการท่องเที่ยวในประเทศไทยหรือในหลายประเทศในภูมิภาคทั้งหมดจะสามารถกลับมาฟื้นคืนเดิมได้เมื่อไหร่ แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องช่วยกันก็คือผู้ประกอบการ เศรษฐกิจ และ เม็ดเงินต่างๆ ที่เคยมีและเคยไหลมาสู่ประเทศไทยในเรื่องราวของการท่องเที่ยวได้หายไป เราจะทำอย่างไรที่จะเรียกสิ่งเหล่านั้นกลับคืนมาได้ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่สื่อมวลชนทั้งหลายจะช่วยผลักดันก็คือการประชาสัมพันธ์ ให้คนไทยเที่ยวเมืองไทยให้ได้มากที่สุด อย่างน้อย ก็จะเป็นฐานสำคัญที่จะทำให้พวกเขาเหล่านั้นยังมีชีวิตอยู่ได้ ยังมีกำลังใจอยู่ได้ที่จะช่วยกันฟื้นฟูช่วยกันพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ถ้าคนไทยช่วยกันเราต้องอุ้มชูช่วยกันได้ค่ะ

ทั้งนี้ ดร.สมจินต์ ชาญกระบี่ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง ได้มอบหมายให้ คุณสุวภัทร ดำมณี เจ้าหน้าที่พัฒนาพื้นที่พิเศษ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 7 ทำหน้าที่ต้อนรับสื่อมวลชนในครั้งนี้ เผยว่า กิจกรรมที่สื่อมวลชนได้มาร่วมกับทางสุพรรณบุรีก็คือจะเป็นเรื่องของการพัฒนาเมือง และยกระดับการพัฒนาเมืองสุพรรณบุรีเป็น เมืองดนตรี (Music City)” เพื่อเข้าสู่เมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ภารกิจนี้เป็นภารกิจที่เป็นยุทธศาสตร์ของชาติ ซึ่งทางกระทรวงการท่องเที่ยวได้มอบหมายให้ทาง อพท. เป็นหน่วยงานต้นน้ำซึ่งพัฒนาสิ่งเหล่านี้ ระหว่างนี้เป็นการเตรียมความพร้อมของพื้นที่ในการที่จะนำเสนอเมืองดนตรีเข้าสู่ยูเนสโก

ในเบื้องต้นสิ่งที่พื้นที่กำลังดำเนินการอยู่ คือ เรื่องของภาพบรรยากาศ กลิ่นอายวัฒนธรรมดนตรีในสุพรรณ เพื่อให้คนทั่วไปและชาวโลกได้รับรู้ว่าทำไมสุพรรณบุรีถึงได้เสนอตัวเป็นเมืองดนตรี เพราะว่าเรามีความโดดเด่นในเรื่องของอัตลักษณ์ของดนตรี ซึ่งมีตั้งแต่ความเป็นเพลงไทยเดิม เรามีศิลปินแห่งชาติ 3 ท่าน คือ ครูมนตรี ตราโมท , ครูแจ้ง คล้ายสีทอง และ พลเรือตรีมงคล แสงสว่าง เรามีพ่อเพลง แม่เพลง ของเพลงพื้นบ้าน ได้แก่ พ่อไวพจน์ เพชรสุพรรณ , แม่ขวัญจิตศรีประจันต์ เรามีราชาเพลงลูกทุ่งซึ่ง ได้แก่ ครูสุรพล สมบัติเจริญ , ราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ และที่รู้จักกันอีกก็คือ สายัณห์ สัญญา นอกจากนี้ก็ยังมีศิลปินอื่นๆ ทางด้านเพลงลูกทุ่งอีกจำนวนมาก เรามีศิลปินเพลงเพื่อชีวิต คือน้าแอ๊ด คาราบาว เรามีศิลปินสตริงเพลงป๊อบร็อคก็คือ พี่ตูน Bodyslam ทั้ง 5 แขนงนี้ถือว่าเป็น “เบญจภาคีดนตรีสุพรรณ” เป็นสายธารดนตรีที่เป็นความภาคภูมิใจที่คนสุพรรณทุกคนรู้จัก และไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่านี่คือของดีของดนตรีสุพรรณ

การที่เราจะขับเคลื่อนเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นในการพัฒนาเมืองในการที่จะทำงานร่วมกับพื้นที่ชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน บูรณาการไปด้วยกัน เพื่อที่จะทำให้สังคมเศรษฐกิจในระดับของพื้นที่ ระดับสังคม ระดับประเทศดีขึ้น เพราะว่าการที่เราได้เป็นเมืองเครือข่ายของยูเนสโก จะเป็นการเปิดประเทศไปสู่นานาอารยะประเทศให้ได้มารู้จักสุพรรณบุรี เมืองสุพรรณบุรีเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ชื่อของสุพรรณบุรีก็จะปรากฏอยู่บนแผนที่โลก ให้ทั่วโลกได้เลือกที่จะมาเที่ยวสุพรรณในมิติของดนตรีที่เป็นสุพรรณ ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่แค่การมาเที่ยวแต่ยังหมายถึงการมาร่วมประชุมมาร่วมเสวนา มีการติดต่อในเครือข่ายของภาคดนตรีด้วยกัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้การเติบโตในเรื่องของการสร้างสรรค์ทางด้านดนตรีดีขึ้น สุดท้ายก็จะนำมาซึ่งการท่องเที่ยวของสุพรรณบุรีและของประเทศ

ทั้งนี้ ในการพัฒนาเรื่องของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์เป็นเพียงแค่โมเดลในการพัฒนาอย่างหนึ่งที่เรานำมาพัฒนาเมือง ดังนั้นเราไม่ได้มีความมุ่งหวังหรือคาดหวังว่าจะต้องเป็นเครือข่ายของเมืองสร้างสรรค์อย่างเดียว แต่การที่สุพรรณบุรีได้เป็นดนตรีได้พัฒนายกระดับจังหวัด ให้เป็นมีความแข็งแรงทางด้านวัฒนธรรมดนตรี เราก็เชื่อว่าในอนาคตเมืองสุพรรณบุรีสามารถที่จะก้าวขึ้นสู่ระดับเมืองดนตรีโลกได้ในอนาคต ซึ่งสุดท้ายความเป็นดนตรีก็จะไปตอบโจทย์ในแผนพัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรี ในวิสัยทัศน์หลักของจังหวัดก็คือเมืองแห่งความสุข City Of Happiness ค่ะ

📍www.indyreport.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *