🔴 เช็คอินความอร่อย! : เรื่องเล่าจาก “ขนมตาล” ขนมพื้นบ้านแบบไทยๆ ที่หลายคนชื่นชอบ สีเหลืองเข้ม นุ่ม ฟู และมีกลิ่นหอมหวานของผลตาลที่ยีเนื้อจากผลตาลที่สุกงอมผสมกับแป้งข้าวเจ้า กะทิ และน้ำตาล นำมานึ่งใส่กระทงใบตอง โรยมะพร้าว อยู่คู่คนไทยมาตลอดหลายทศวรรษ..
จำได้ว่าตอนเด็กๆ เคยเป็นลูกมือช่วยแม่ทำขนมตาล นอกจากจะเป็นลูกมือแม่ในการทำขนมครกขายแล้ว ก็ยังมีโอกาสได้เป็นลูกมือแม่ช่วยแม่ทำขนมตาลอีกด้วย แต่ไม่ได้ทำขายนะสำหรับขนมตาล แม่ทำให้สมาชิกในบ้านได้ลิ้มรสขนมตาลอร่อยๆ จากฝีมือแม่โดยไม่ต้องเสียตังค์ไปซื้อขนมนอกบ้านเลยสักบาท แม่เป็นคนทำขนมได้อร่อยมาก ถ้าทำเยอะก็แจกเพื่อนบ้านบ้าง เด็กๆ แถวบ้านเพื่อนลูกๆ ข้างบ้านได้อิ่มอร่อยไปด้วย
วันหนึ่งพ่อนำผลตาลสุกผลดำๆ มาให้แม่ประมาณ 3-5 ผล ให้แม่ทำขนมตาล สมัยโน้นแม่ก็มีอาชีพที่นอกเหนือจากการเป็นแม่บ้านดูแลครอบครัว ก็คืออาชีพทำขนมครกขายด้วย ที่บ้านจึงมีอุปกรณ์ตั้งแต่ กระต่ายขูดมะพร้าว และโม่หินที่ใช้โม่โป้งแบบสมัยก่อน ซึ่งสมัยนี้ขนมที่ขายจะใช้แป้งสำเร็จรูปกันเกือบหมดแล้วในการทำขนม และไม่ได้ใช้โม่หินโม่แป้งให้เหนื่อยแรงกันอีกแล้ว ซึ่งสะดวกและรวดเร็วกว่าแต่ทว่าขาดเสน่ห์ในการทำขนมไป ซึ่งการโม่แป้งในการทำขนมแต่ละครั้งนั้นก็จะมีเรานี่แหละเป็นลูกมือ คอยตักข้าวเจ้าที่แช่น้ำทีละช้อนสังกะสีจากในหม้ออวยใบใหญ่หยอดลงรูที่โม่แป้งทีละช้อน จากนั้นแม่ก็จะเป็นคนหมุนโม่หินประมาณ 2-3 รอบบดเมล็ดข้าวเจ้าจนละเอียดกลายเป็นแป้งน้ำสีขาวๆ เหมือนน้ำนมข้นคลัก ไหลลอดออกมาตามช่องและร่องด้านข้างจากโม่หินลงสู่กะละมังใบใหญ่ที่รองรับอยู่ด้านล่างจนเต็ม แต่กว่าจะเต็มก็ใช้เวลานานนับชั่วโมง ช่วงนั้นวัยเด็กหมดไปกับการช่วยแม่ทำงานมากกว่าจะได้ไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ
ส่วนขั้นตอนการยีผลตาลนั้นจะต้องนำผลตาลที่สุกจนเหลืองดำ และเนื้อข้างในมีสีเหลืองเข้ม จะมีกลิ่นหอมมากๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะหล่นจากต้นมาเองโดยไม่ต้องเสียเวลาไปปีนเก็บให้อันตราย จากนั้นนำมาปอกเปลือกออกและนำมายีกับน้ำสะอาดให้หมดสีเหลือง นำน้ำที่ยีแล้วใส่ถุงผ้าขาวบางผูกไว้ให้น้ำหยดเหลือแต่เนื้อลูกตาล ขั้นตอนนี้หลังจากน้ำหยดจนหมดต้องใช้เวลาข้ามคืน แม่นำโม่หินหนักๆ มาทับบนถุงผ้าที่มีเนื้อลูกตาลด้วย เพื่อให้น้ำออกมาให้มากที่สุดจนเหลือแต่เนื้อตาลล้วนๆ นำมาผลมกับแป้งที่โม่เตรียมไว้
ส่วนเมล็ดลูกตาลหลังจากถูกยีจนหมดสีเหลืองแล้ว พอแห้งก็จะมีเส้นใยคล้ายเส้นผมสีขาวๆ หม่นๆ คล้ายผมคนแก่ นั่นก็เป็นของเล่นในวัยเด็กที่โปรดปรานชิ้นหนึ่งสำหรับเด็กผู้หญิงที่มีความคิดสร้างสรรค์อย่างเรา อิอิ (แอบคุย) นำมาดัดแปลงเป็นหัวตุ๊กตา ตัดแต่งเป็นทรงผม และแต่งหน้าแต่งตาให้เป็นตุ๊กตาที่น่ารักนำมาเล่นกับเพื่อนๆ ได้อีก สมัยนั้นมีของเล่นจากธรรมชาติให้ได้เล่นอย่างสร้างสรรค์บ่อยๆ เสียด้วย อิอิ
ก่อนจะออกนอกเรื่องมากไปกว่านี้ เรามาต่อกันกับเรื่องของขนมตาลให้จบดีกว่า เดี๋ยวจะไม่ได้กินขนมตาลเสียที ฮา ฮา เพราะคนเขียนโม้เก่งชอบพาเข้าป่าบ่อยๆ ปัจจุบันหาขนมตาลที่ทำแบบสูตรโบราณยากมาก เนื่องจากปริมาณการปลูกต้นตาลที่ลดลง ขนมตาลที่ขายตามท้องตลาดส่วนใหญ่มักใส่เนื้อตาลน้อยเพื่มแป้งและเจือสีเหลืองแทน จึงทำให้เนื้อขนมตาลกระด้างไม่หอมหวานนุ่มอร่อยเหมือนสมัยก่อน ขั้นตอนการทำขนมตาลก็มีดังนี้
เริ่มแรกผสมกะทิกับน้ำตาลทรายนำขึ้นตั้งไฟจนน้ำตาลละลาย คนต่อไปจนเดือดและทิ้งไว้ให้เย็น กรองด้วยกระชอนให้กากและฟองออก จากนั้นนำแป้งที่ผสมกับเนื้อตาลมานวดให้เข้ากัน ใส่กะทิลงไปเล็กน้อยแล้วนวดให้เหมือนกับนวดแป้งขนมปังไม่ถึงกับแฉะ พอนวดเสร็จเติมกะทิส่วนที่เหลือลงไปทีละน้อย นวดให้แป้งละลายกับน้ำกะทิจนส่วนผสมเหลวได้ที่ คลุมด้วยผ้าขาวบางหรือพลาสติกอย่างมิดชิด หรือปิดฝาพักไว้จนขึ้นเป็นฟองละเอียดประมาณ 6 ชั่วโมง หรือถ้าจะให้ดีก็ทิ้งไว้ข้ามคืนเลย
ในกรณีที่เตรียมแป้งไว้ตอนกลางคืน แล้วนำมานึ่งตอนเช้าก็จะได้ขนมตาลที่หอมสดใหม่ยามเช้าอร่อยจากลังถึงเลยทีเดียว ช่วงกลางคืนก็เย็บกระทงใบตองกับไม้กรัดรอเตรียมไว้ก็ได้ เช้ามาก็ตักใส่กระทง นึ่งประมาณ 10-15 นาที ใช้ไม้จิ้มฟันหรือไม้กลัดแทงที่เนื้อขนมดู ถ้ายังแฉะแสดงว่ายังไม่สุก แต่ถ้าไม่แฉะแสดงว่าสุกแล้ว ยกกระทงขนมตาลที่สุกแล้วมาโรยด้วยมะพร้าวขูด หอมอร่อยเข้ากันอย่าบอกใครเชียว ^__^”
📍www.indyreport.com