นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุดที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ พระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร และพระราชทานโล่รางวัล ในวันจันทร์ที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๘ เวลา ๑๔.๓๐ น. ณ ศาลาพระราชศรัทธา วัดปทุมวนาราม เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ที่มีบทบาทสำคัญในการจรรโลงและส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างเข้มแข็ง รวมทั้งเป็นผู้อุทิศตัวทำงานด้านพุทธศาสนาเป็นแบบอย่างแก่คนในสังคม เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาในปี พ.ศ. 2567 โดยมีผู้เข้ารับพระราชทานรางวัล จำนวน ๒๕๙ ราย ได้แก่ ๑. รางวัลพระราชทานเสาเสมาธรรมจักร จำนวน ๑๖๐ ราย ประกอบด้วย พระสงฆ์ ๙๑ รูป ฆราวาส ๕๙ ราย และหน่วยงาน ๑๐ แห่ง ๒. รางวัลโล่พระราชทาน ประกอบด้วย นักเรียนที่ชนะการประกวดสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัย ทำนองสรภัญญะ จำนวน ๓๔ คน นักเรียนที่ชนะการประกวดบรรยายธรรม จำนวน ๒๔ คนและนักเรียนที่ชนะการประกวดโอ้เอ้วิหารราย จำนวน ๒๑ คน และ ๓. ผู้เข้ารับพระราชทานของที่ระลึก จำนวน ๒๐ คน
ทั้งนี้ กรมการศาสนา ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา พิธีมอบพัดรองและเข็มเชิดชูเกียรติ แก่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประจำปีพ.ศ. ๒๕๖๗ รวมทั้งชี้แจงระเบียบแนวทางปฏิบัติตน และซักซ้อมขั้นตอนการปฏิบัติตนให้กับผู้เข้ารับพระราชทานรางวัลฯ ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร โดยได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และที่ปรึกษาคณะกรรมการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา เป็นประธานในพิธีมอบพัดรองและเข็มเชิดชูเกียรติแก่พระสงฆ์และฆราวาสที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๗ ในส่วนกลาง (กรุงเทพมหานคร) และต่างประเทศ จาก ๑๐ ประเภท ได้แก่ ๑.ประเภทส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา ๒.ประเภทการศึกษาสงเคราะห์ ๓.ประเภทส่งเสริมการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ๔.ประเภทส่งเสริมการปฏิบัติธรรม
๕.ประเภทส่งเสริมกิจการคณะสงฆ์ ๖.ประเภทสงเคราะห์ประชาชนและส่งเสริมการพัฒนาชุมชนโดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ๗.ประเภทส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมมรดกไทยทางพระพุทธศาสนา ๘.ประเภทสื่อมวลชนที่ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ๙.ประเภทหน่วยงานที่มีกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา ๑๐.ประเภทผู้ประกอบอาชีพที่มีคุณธรรมและส่งเสริมพระพุทธศาสนา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมโดยกรมการศาสนา ได้ยกย่องผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมและเยาวชนของชาติแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุนพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญวัฒนาถาวร และเสริมสร้างให้สังคมเกิดความยั่งยืนตามนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม นอกจากนี้การส่งเสริมและยกย่องนักเรียนที่ชนะการประกวดสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัย ทำนองสรภัญญะ นักเรียนที่ชนะการประกวดบรรยายธรรม และนักเรียนที่ชนะการประกวดโอ้เอ้วิหารราย ให้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล ถือว่าเป็นนโยบายที่สำคัญของกระทรวงวัฒนธรรม ในเรื่องการเชิดชูอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น และการพัฒนาคนซึ่งถือเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญให้มีทักษะสูงพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในบริบทสังคมปัจจุบัน และยังเป็นการรักษาสิ่งเติมเพิ่มเติมสิ่งใหม่ในการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและความตระหนักรู้เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมในทุกระดับ สอดรับโยบายกระทรวงวัฒนธรรม “4 นโยบาย – 3 แนวทาง – 2 รูปแบบ – 1 เป้าหมาย” ในการส่งเสริม สร้างสรรค์ ผลักดันทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านวัฒนธรรม โดยผลักดันให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 25 ประเทศที่มีอิทธิพลด้าน Soft Power ในมิติวัฒนธรรม ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน และเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น กระตุ้นให้เกิดทุนทางวัฒนธรรม (Soft Power) รวมทั้งเป็นการขยายโอกาส ให้พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล และเจริญภาวนา นอกเหนือจากวันธรรมสวนะและในโอกาสต่างๆ อีกด้วย…
__________________________
www.indyreport.com