ต่างชาติสุดงงนโยบายรัฐบาลไทยชวนมาลงทุนแต่เจอปฏิวัติเปลี่ยนกฎหมาย เผยโครงการสำรวจและพัฒนาแร่ถูกแช่แข็งมา 7 ปีแบบไม่มีอนาคตทั้งๆที่ไทยควรจะได้ค่าภาคหลวงมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท เรียกร้องรัฐบาลเศรษฐาเร่งพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายส.ป.ก. หากยังล่าช้าอาจต้องเดินหน้าทางกฎหมายหรือถอนตัวจากประเทศไทย
นายริชาร์ด ซีลี่ และ นายแมทธิว อัลส์ฟอร์ด สองผู้บริหารของ บริษัท นิวพอร์ต มิเนอรัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2554 ได้รับอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ให้ทำการสำรวจแร่แคลไซต์ในพื้นที่ส.ป.ก.ที่อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานีในปี 2557
ปัญหาหลักที่บริษัทพบคือการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับกิจกรรมที่อนุญาตให้ทำบนพื้นที่ส.ป.ก. เริ่มแรกบริษัทมีสิทธิ์ขอและรับประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ได้ตามกฎหมาย แต่รัฐบาลคสช.ได้เปลี่ยนกฎหมายในปี พ.ศ. 2560 ทำให้การดำเนินงานต้องหยุดชะงักจนถึงปัจจุบัน มีผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทเพราะได้ลงทุนไปมากแล้ว
ผู้บริหารของบริษัทนิวพอร์ตฯกล่าวว่า ในช่วงรัฐบาลคสช.ต่อเนื่องถึงรัฐบาลเลือกตั้งชุดที่แล้วนั้น เชื่อว่ามีการประวิงเวลาของหน่วยงานต่างๆในการพิจารณาแก้ไขปัญหาการลงทุนของโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วในพื้นที่ส.ป.ก. ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนหรืออ่อนไหวทางการเมือง แต่ก็ทราบว่ามีความพยายามแก้ปัญหาด้วยการยกร่างพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พ.ศ…..เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรและอนุญาตให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่และธุรกิจอื่นๆดำเนินการได้ด้วย
“ ตามที่เราเข้าใจหลายโครงการถูกระงับโดยตรงจากความล่าช้าในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายส.ป.ก.ใหม่ นอกจากเหมืองแร่แล้วยังมีโครงการพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ โครงการเชิงพาณิชย์อื่นๆก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน” ผู้บริหารบริษัทนิวพอร์ตกล่าว
โครงการสำรวจและพัฒนาแคลไซต์ของบริษัทนิวพอร์ตฯนั้นถือเป็นแร่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมและวงการก่อสร้าง โดยทางนิวพอร์ตระบุว่าคาดว่าจะต้องจ่ายค่าภาคหลวงให้กับรัฐบาลไทยประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 25,200 ล้านบาท ในช่วงเวลาสัมปทานครั้งแรกก่อนการขยายเวลาใดๆ
เมื่อถามถึงกรณีของเหมืองทองของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)ที่จังหวัดพิจิตรและ และเพชรบูรณ์ หลังจากถูกสั่งปิดไปกว่า 6 ปีเนื่องจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชุมชน แล้วได้กลับมาเปิดใหม่ในปี 2566 สองผู้บริหารของนิวพอร์ตตอบว่าเราไม่สามารถแสดงความคิดเห็นมากและ ไม่แน่ใจว่านี่จะเป็นโมเดลสำหรับการแก้ปัญหาหรือไม่ อย่างไรก็ตามทางบริษัทเห็นว่านี่เป็นกรณีเฉพาะและพิเศษ เนื่องจากความอ่อนไหวและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการทำ เหมืองทองและกระบวนการเฉพาะของมัน
อย่างไรก็ตามโครงการแคลไซต์ของนิวพอร์ตจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมากเนื่องจากไม่ใช้สารเคมีที่เป็นพิษและใช้วิธีการทำเหมืองแบบเปิดง่าย นิวพอร์ตมีนโยบายผลกระทบต่อสิ่งแวด ล้อมที่เข้มงวดซึ่งจะปฏิบัติตามเสมอ นอกจากนี้ยังมีแผนฟื้นฟูพื้นที่อย่างชัดเจน
ผู้บริหารของนิวพอร์ตกล่าวในตอนท้ายว่า หวังว่าปัญหาเดียวที่เป็นอุปสรรคต่อโครงการคือการพิจารณาแก้ไขกฎหมายส.ป.ก.โดยรัฐบาลใหม่จะดำเนินการอย่างรวดเร็วและอนุญาตให้โครงการดำเนินต่อไปได้ เพราะหากปัญหายังคงไม่ได้รับการแก้ไขบริษัทนิวพอร์ตฯ คณะกรรมการและผู้ถือหุ้นจะต้อง พิจารณาทางแก้ปัญหาหรือทางเลือกทั้งหมดที่เป็นไปได้ ซึ่งอาจรวมถึงการดำเนินการทางกฎหมาย หรือการถอนตัวจากประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการของนิวพอร์ตมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่ารัฐบาลใหม่จะจัดการ ปัญหาอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่ายรวมถึงนิวพอร์ต รัฐบาลใหม่ ประเทศไทยโดยรวม และที่สำคัญที่สุดคือชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่โครงการที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้
อนึ่ง ร่างพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พ.ศ…..ที่ส.ป.กได้ทำการยกร่างโดยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ในช่วงต้นปี 2566 แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังคงอยู่ที่กระทรวงเกษตรฯไม่ได้ถูกนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน
………………….…….…………………….……
www.indyreport.com