ระหว่างวันที่ 24 – 27 สิงหาคม 2566 ชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือ (ช.ส.ท.) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดย นางวรางคณา สุเมธวัน ประธานชมรมสื่อมวลนส่งเสริมการท่องเที่ยว (ช.ส.ท.) นำคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางกว่า 30 คน ลงพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญจังหวัดอุดรธานี “ดินแดนแห่ง 3 ธรรม” ธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดอุดรธานี ออกแบบสร้างสรรค์กิจกรรมท่องเที่ยวเชื่อมโยงเมืองรองสู่เมืองหลัก ตามโครงการประขาสัมพันธ์การท่องเที่ยวผู้สูงวัย กระตุ้นท่องเที่ยว
นางวรางคณา สุเมธวัน ประธานชมรมสื่อมวลนส่งเสริมการท่องเที่ยว (ช.ส.ท.) กล่าวว่า “วัตถุประสงค์ของการจัดทริปเดินทางของชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยวมาที่จังหวัดอุดรธานี เป็นครั้งหนึ่งที่ปีหนึ่งเราจะจัดนำสื่อล้วนๆ ออกเดินทางมาเจาะลึกมาสัมผัสการท่องเที่ยวเส้นทางใหม่ๆ สักครั้งหนึ่ง และปีนี้เราก็เลือกจังหวัดอุดรธานี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เลือกที่จะมาดูวิถีชีวิตชุมชนดูโบราณสถาน ดูการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และทางวัฒนธรรมและทางประเพณี ซึ่งเราก็ทำได้ครบและสื่อของเราทุกคนที่ถือว่าเป็นสถาบันเดียวกันของชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว ก็จะนำเรื่องราวของจังหวัดอุดรธานีที่เราได้ทำงานมาทั้งหมดนี้นำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เป็นประโยชน์แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อไปค่ะ
ครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือ ช.ส.ท. ของเราได้พาคณะสื่อมวลชนทั้งหมดประมาณ 32 คน เดินทางมาเจาะลึกทัศนศึกษาจังหวัดอุดรธานี ซึ่งจะมีเรื่องราวทั้งเรื่องราวของประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เรื่องของวัดวาอาราม เรื่องวิถีชีวิตชุมชน และเรื่องราวของการท่องเที่ยวแบบแอดเวนเจอร์ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็เป็นที่น่ายินดี ที่เราสามารถที่จะมีแหล่งท่องเที่ยวแบบแอดเวนเจอร์ที่เราไปดูมาที่อำเภอนาโยง คือที่ “หมู่บ้านคีรีวงกต” ที่นี่เขาได้มีการท่องเที่ยวแบบใหม่ โดยการใช้รถอีแต๊กเป็นพาหนะนำนักท่องเที่ยว แล่นไปในลำธารเล็กๆเต็มไปด้วยกรวดทรายไหลลงมาจากภูเขา ซึ่งที่นั่นก็จะมีน้ำตกนายูงด้วย จากที่เราคุ้นเคยกับท่องเที่ยวในแบบล่องแก่งหรือลงเรือล่องแพ แต่เราใช้รถอีแต๊กล่องไปในน้ำซึ่งจริงๆ แล้วเย็นสบายและมีทัศนียภาพที่สวยงามและไม่ได้อันตรายอย่างที่หลายๆ ครั้งก็จะเห็นว่าในการเดินทางไปล่องแก่งก็จะมีอันตราย
และจุดสุดท้ายของเราที่เป็นไฮไลท์ของเราที่เราอยากมาดูมาเยี่ยมชม ก็คือ “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ที่นี่เรามากันหลายครั้งแล้วก็อยากดูว่ายังคงอยู่และได้มีการพัฒนาและดูแลเป็นอย่างดี ซึ่งที่นี่ก็เป็นอีกที่หนึ่งซึ่งเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์แบบธรรมชาติ ที่ผสมผสานกับธรรมชาติการนำตำนานเก่ามาเล่าขานนำมาผสมกันก็เกิดเป็นเรื่องราวของนางอุสากับท้าวบารส ที่ทำให้เรื่องราวของตำนานที่นี่ได้กลายเป็นที่กล่าวขาน คนที่มาที่ภูพระบาท ที่อำเภอบ้านผือ ก็ควรที่จะต้องมาแวะมาดูมาชมที่นี่ค่ะ” นางวรางคณา กล่าว
โดยมีกำหนดการเดินทางดังนี้ วันที่ 24-25 สิงหาคม 2566 :
คณะเดินทางโดยรถบัสปรับอากาศ ออกเดินทางเวลา 20.00 น. มุ่งสู่จังหวัดอุดรธานีในตอนเช้า จุดหมายแรกคือรับประทานอาหารเช้าที่ “ร้านคิงส์โอชา” ร้านอาหารเช้าเก่าแก่และขึ้นชื่อแห่งเมืองอุดรฯ อาหารสไตล์เวียดนาม อยู่ตรงข้ามสำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุดรธานี ตำบล หมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี อุดรธานี
เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 04:00 – 10.00 น. แนะนำไข่กระทะ ขนมปังฝรั่งเศสไส้หมูยอและกุนเชียง กรอบนอกนุ่มใน ข้าวเปียกเส้น เครื่องดื่มโบราณมีชานมร้อน และทางร้านมีบริการชาจีนร้อนด้วย นอกจากนี้ที่ร้านก็ยังทำหมูยอเองและมีจำหน่ายกลับไปอร่อยต่อที่บ้านหรือเป็นของฝากได้อีกด้วย
คณะเดินทางต่อไปเยือนแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงมรดกโลก ทางประวัติศาสตร์ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง อุดรธานี ตั้งอยู่ตำบลบ้านเชียง เป็นแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
กรมศิลปากรได้ทำการสำรวจขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่บ้านเชียงระหว่าง พ.ศ. 2517-2518 จากการศึกษาหลักฐานต่างๆ ที่พบ ทำให้บ้านเชียงเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุราว 5,600-1,800 ปี โดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้จดทะเบียนให้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเป็นมรดกโลก ทางประวัติศาสตร์ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2535 ณ เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย
คณะเดินทางไปชมความงาม “อุโบสถดอกบัวกลางน้ำ” พระอุโบสถทรงดอกบัวสีขาวหนึ่งเดียวในประเทศไทย ตั้งโดดเด่นกลางน้ำ ณ วัดสันติวนาราม หรือ “วัดดงไร่” ตั้งอยู่ในตำบลบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี โดยพระอุโบสถทรงดอกบัวสีขาวมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 19 เมตร สูง 19 เมตร ประกอบด้วยดอกบัว 24 กลีบ และมีพญานาค 2 ตัว อยู่ด้านหน้าสะพานทางเดินเชื่อมไปยังพระอุโบสถ ภายในมีภาพวาดฝาผนังที่บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ มีองค์พระประธานสีขาวโดดเด่นอยู่ภายในอุโบสถ บริเวณโดยรอบอุโบสถโอบล้อมไปด้วยบึงน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งมีปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
มื้อกลางวันอร่อยกับอาหารอีสานและอาหารตามสั่งที่ “ครัวฟ้าหนาว” พิกัดอยู่ฝั่งตรงข้ามพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง 76 หมู่ 13 ถนนสุทธิพงษ์ ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นร้านที่อยู่ใกล้เส้นทางและแนะนำให้มาอร่อยกัน
และต่อด้วยการเดินทางไปยัง “วัดโพธิสมภรณ์” ซึ่งตั้งอยู่ถนนเพาะนิยม ตำบลหมากแข้ง ทางทิศตะวันตกของหนองประจักษ์ เป็นวัดที่สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 โดยมหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ได้ชักชวนราษฎรบ้านหมากแข้งมาช่วยกันสร้างวัด ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดใหม่” ต่อมาพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงประทานนามว่า “วัดโพธิสมภรณ์” ให้เป็นอนุสรณ์แก่พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรผู้สร้างวัดนี้ภายในวัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธรัศมี พระประธานในพระอุโบสถของวัด เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย อายุประมาณ 600 ปี
จุดหมายต่อไปคือ พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี ตั้งอยู่ใกล้หนองประจักษ์ ด้วยสถาปัตยกรรมของตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ที่มีความสวยงามในรูปแบบอาคารเก่าสีเหลืองมัสตาร์ด และอาคารโลหะฝั่งตรงข้ามก็มีความสวยงามสไตล์โมเดิร์น ที่นี่เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และเผยแพร่เกียรติประวัติของจังหวัดอุดรธานี ความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ ด้านการเป็นแหล่งเรียนรู้คือ การนำเสนอเนื้อหาและองค์ความรู้เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเรียนประเพณีและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวจังหวัดอุดรธานีตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน
คณะเดินทางไปกราบสักการะ ศาลหลักเมืองอุดรธานี เป็นศูนย์รวมความเคารพและความศรัทธา ซึ่งชาวเมืองอุดรนิยมมาสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญอันเป็นที่เลื่อมใสบูชาเป็นอย่างสูงได้แก่ หลวงพ่อพระพุทธโพธิ์ทอง และท้าวเวสสุวัณ ซึ่งมีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ และความเป็นสิริมงคลในแต่ละด้านที่แตก ต่างกันไป ตามประวัติกล่าวว่า ศาลหลักเมืองอุดรธานีนั้นสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2502 โดยได้อัญเชิญดวงพระวิญญาณของ พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้ทรงก่อตั้งเมืองอุดรธานีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2436 มาสถิตย์ ณ เสาหลักเมืองนี้ด้วย
ในช่วงเย็นเดินทางไปรับประทานอาหาร ณ ชบาบาร์น ครัวอีสานวินเทจ อุดรธานี ร้านอาหารอีสานสไตล์ย้อนยุค เสิร์ฟเมนูอีสานรสแซ่บที่คุ้นเคย บรรยากาศดี ๆ ตกแต่งร้านสไตล์วินเทจท่ามกลางสวนอันร่มรื่น ร้านตั้งอยู่ในซอยเสนีย์พิทักษ์ชน 4 ตำบลหนองขอนกว้าง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี หลังจากนั้นเดินทางเข้าที่พัก ณ โรงแรมสยมาแกรนด์ อุดรธานี (หนองขอนกว้าง) มีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นครบครัน
วันที่ 26 สิงหาคม 2566 :
ออกเดินทางไปยัง หมู่บ้านคีรีวงกต นั่งรถอีแต๋นฝ่าลำธาร เนินเขาและไร่สวน ชมความงดงามของธรรมชาติ และรับประทานอาหารเที่ยงที่กลางป่า มีเพิงพักให้นั่งกินข้าว อารมณ์เหมือนนั่งกินอยู่ร้านอาหารกลางป่า ใกล้ๆ มีลำธารและน้ำตกให้ผ่อนคลาย ส่วนอาหารเป็นแบบบุฟเฟ่ ส้มตำ ไก่ยาง กับปลาเผา และแกงส้มหยวกกล้วย ในกระบอกไม้ไผ่อาหารอร่อยมากๆ ไก่ย่างเสิร์ฟกันมาแบบไม่อั้นทีเดียว
หมู่บ้านคีรีวงกต อ.นายูง จ.อุดรธานี หมู่บ้านเล็กๆ ที่เงียบสงบท่ามกลางหุบเขาและสายหมอกในยามเช้า เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวและโฮมสเตย์ ที่น่ามาเที่ยวมาพักเป็นอย่างมาก
คณะเข้าชม วัดป่าภูก้อน ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูงและป่าน้ำโสม ท้องที่บ้านนาคำ ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี อันเป็นรอยต่อแผ่นดิน 3 จังหวัด คือ อุดรธานี เลย และหนองคาย กำเนิดขึ้นจากการดำริชอบของพุทธบริษัทสี่ ผู้ตระหนักถึงคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและป่าต้นน้ำลำธาร ซึ่งกำลังถูกทำลาย โดยในปี พ.ศ. 2527 พระเดชพระคุณหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้เมตตาปรากฏในทิพยนิมิต สั่งให้ไปธุดงค์ทางภาคอีสานเป็นเวลา 10 วัน คุณปิยวรรณและคุณโอฬาร วีรวรรณ พร้อมคณะได้เดินทางมาธุดงค์แถบจังหวัดสกลนครและอุดรธานี
เดินทางต่อไปยัง อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ 3,430 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีชื่อว่า “ป่าเขือน้ำ” บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดระยะทางประมาณ 67 กม. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเปิดบริการเวลา 08.00-16.30 น. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทแห่งนี้ ปรากฏร่องรอยของกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 2,000 – 3,000 ปีมาแล้ว มีการพบภาพเขียนสีมากกว่า 30 แห่ง ยังพบการดัดแปลงโขดหินและเพิงผาธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนใน วัฒนธรรมทวารวดี ลพบุรี สืบต่อกันมาจนถึงวัฒนธรรมล้านช้าง ตามลำดับ
ก่อนเดินทางกลับที่พัก รับประทานอาหารเย็น ณ ร้าน วีที แหนมเนือง ร้านอาหารเวียดนามที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอุดรธานี หากมาถึงอุดรธานีที่ต้องมาลิ้มลองอาหารที่นี่สักครั้ง
วันที่ 27 สิงหาคม 2566 :
เดินทางไปยัง พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด หรือ “พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล” อนุสรณ์สถานสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงหลวงตามหาบัว จังหวัดอุดรธานี
“พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล“ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานที่บรรจุอัฐิธาตุของหลวงตาพระมหาบัวญาณสัมปันโน ให้เป็นสถานที่เผยแพร่ธรรมะ คำสอน ของหลวงตา เพื่อให้คนรุ่นหลัง รำลึกถึงคุณูปการของท่านทั้งในทางโลกและทางธรรม และถือเป็นแบบอย่างใน การปฏิบัติ และทำความดีเพื่อพุทธศาสนาและประเทศชาติ โดยอาคารพิพิธภัณฑ์ จะเปิดให้บริการ ตั้งแต่ 8.30-16.30 น. วันละ 6 รอบ รอบละไม่เกิน 30 คน หยุดทุกวันจันทร์
คณะเดินทางต่อไปยัง “อุทยานแห่งชาติภูฝอยลม” ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพานน้อย ที่อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600 เมตร อากาศเย็นสบายตลอดปี ชื่อของภูฝอยลมมาจากไลเคนชนิดหนึ่งคือ “ฝอยลม“ ซึ่งเคยพบเกาะอาศัยอยู่ตามกิ่งของต้นไม้ใหญ่ในบริเวณนี้ แต่ปัจจุบันพบได้น้อยลงเนื่องจากป่าถูกบุกรุกจนมีสภาพเสื่อมโทรม ปัจจุบันมีการจัดตั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและ ให้เป็นที่ทัศนศึกษาของประชาชน ประกอบด้วยสวนรวมพรรณไม้ 60 พรรษา มหาราชินี อุทยานโลกล้านปี มีหุ่นจำลองไดโนเสาร์ และพิพิธภัณฑ์แสดงซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ และมีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติซึ่งจะได้พบป่าเบญจพรรณป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง สลับป่าทุ่งหญ้า น้ำตกเล็ก ๆ และถ้ำ
รับประทานอาหารกลางวัน ณ ร้านเคียงดอย ฝอยลม ต้านอยู่ติดถนนใกล้ทางขึ้น “ภูฝอยลม” อาหารอร่อยหลากหลายเมนูให้เลือกอร่อย
จากนั้นคณะออกเดินทางกลับ แวะรับประทานอาหารเย็น ณ ร้านอาหารบ้านแป้งหอม จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นร้านอาหารที่ได้รับร้านมิชลินไกด์โคราช เป็นร้านอาหารไทย มีหลากหลายเมนูมาก และน่ากินทุกเมนูเลย รสชาติอร่อยเข้มข้นจัดเต็ม บรรยากาศสบายๆ ที่ใครๆ ก็แนะนำ ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานครโดยสวัสดิภาพ
ชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือ (ช.ส.ท.) เป็นองค์กรที่ก่อตั้งมา 38 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยสมาชิกชมรมฯ ใช้สื่อที่รับผิดชอบประชาสัมพันธ์ รวมทั้งให้ข้อคิดเห็นและเสนอแนะการดำเนินงาน ด้านการท่องเที่ยวต่อหน่วยงานรัฐและเอกชนในโอกาสต่างๆ โดยครั้งนี้ ช.ส.ท.จัดกิจกรรมเดินทางไปทัศนศึกษาจังหวัดอุดรธานีระหว่างวันที่ 24 – 27 สิงหาคม 2566 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
……………………………………………………………………………………………………