🔴 ครั้งแรกในประเทศไทยกับการจัดแสดงงานด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยและการบำรุงรักษากับงาน SISTAM 2023

factory interior as industrial background

ผู้นำที่เล็งเห็นคุณค่าของความปลอดภัยและชีวิตคน​ คือผู้ที่จะอยู่รอดและเติบโตในภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

ตั้งแต่เหตุการณ์โรงงานเคมีในประเทศจีนเกิดการระเบิด ก๊าซพิษรั่วไหลจากโรงงานในประเทศอินเดีย จนถึงอุบัติเหตุเพลิงไหม้โรงงานในประเทศไทย ตอกย้ำว่ามิติของระบบโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ได้มีเพียงการผลิตเท่านั้น แต่ยังมีระบบการดูแลและบำรุงรักษาเพื่อให้โรงงานเดินหน้าได้โดยไม่เกิดควาเสียหายต่ออุปกรณ์และชีวิตคน อีกทั้งการบังคับใช้ กฎกระทรวง เรื่องกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัย ที่เพิ่งมีการปรับมาตรฐานล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา ได้กระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบความปลอดภัย และมีกระบวนการนโยบายเพื่อยืนยันความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน รวมทั้งมีข้อกำหนดการลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม ปัจจัยเหล่านี้ล้วนสนับสนุนให้เกิดดีมานด์ด้านบุคลากรและเทคโนโลยีเพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

ตัวเลขที่น่าสนใจอย่างยิ่งในระบบโรงงานอุตสาหกรรม คือ ในตลาดธุรกิจด้านความปลอดภัยของโรงงานอุตสาหกรรม มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดจะสูงถึง 17,860 ล้านดอลล่าร์ ภายในปี 2030 (Meticulous Research) ส่วนตลาดของธุรกิจการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ จะมีมูลค่าประมาณ 32,430 ดอลล่าร์ภายในปี 2029 (Maximize Market Research) จากการเติบโตของเทคโนโลยีและบิ๊กดาต้า ทำให้ในโรงงานอุตสาหกรรมนำระบบข้อมูลมาดูแลรักษามากขึ้น

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะผู้สนับสนุน และกํากับดูแลการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม ฉายภาพให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมคือการเติบโตที่สำคัญของไทย ปัจจุบันการแข่งขันกันในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกันเองในประเทศ หรือการแข่งขันกับต่างประเทศ  แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็เข้าสู่สังคมสูงอายุ ประชากรวัยแรงงานจึงมีจำนวนลดลง ดังนั้น ภาครัฐจึงมีนโยบายที่จะนำเทคโนโลยีด้านไอทีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความปลอดภัยและบำรุงรักษาด้วยนวัตกรรมที่นำไอทีมาใช้ จะสามารถทำให้ตรวจสอบและประเมินได้อย่างละเอียดแม่นยำยิ่งขึ้น หนุนโอกาสการเติบโตในอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องได้ และยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนที่อยู่รอบข้างได้อีกด้วย

“ความปลอดภัย เป็นสิ่งที่ประนีประนอมไม่ได้ เพราะเกิดผลทันทีต่อคนที่เกี่ยวข้อง เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น บางคนอาจจะโทษว่าเป็นความโชคร้าย แต่ในมิติของโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ไม่ใช่เรื่องของโชค แต่เป็นเรื่องของระบบความปลอดภัย ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทยถือว่าเรายังมีจำนวนผู้เชี่ยวชาญไม่มากพอ ดังนั้นกรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงเร่งผลักดันให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญ เพื่อให้ทุกโรงงานมีระบบความปลอดภัย ทั้งภายในโรงงานเองและปลอดภัยต่อชุมชนรอบข้าง เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคสังคมอยู่ด้วยกันได้”

โดยเป้าหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม คือ การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเป็นทิศทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และส่งเสริมให้สถานประกอบการพัฒนาสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry: GI) เป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมีเป้าหมายในปี 2570 ทุกสถานประกอบกิจการโรงงานจะต้องได้รับ GI และโรงงานร้อยละ 50 จะต้องได้รับ GI ระดับ 3 ขึ้นไป ซึ่งความปลอดภัยก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการขอรับการรับรอง GI ด้วยเช่นกัน

นายจุลพงษ์ กล่าวอีกว่า กรมฯ มีการเตรียมการและดำเนินการเพื่อส่งเสริมและการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมความปลอดภัยอัจฉริยะต่างๆ เช่น มีความร่วมมือกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่นในโครงการ Smart Industrial Safety  เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้เรียนรู้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมความปลอดภัยและการบำรุงรักษาใหม่ๆ ของประเทศญี่ปุ่นที่จะยกระดับความปลอดภัยของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเคมี และปิโตรเคมี  รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การอบรม การสัมมนาต่าง ๆ ด้วย เพราะผู้ประกอบการจะเห็นความสำคัญก็ต่อเมื่อมีทางเลือกหรือมีการส่งเสริม ซึ่งในอดีตมักจะเป็นภาคความสมัครใจ แต่ปัจจุบันไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว ถือว่าเป็นภาคบังคับที่ทุกโรงงานอุตสาหกรรมต้องยกระดับความปลอดภัยให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน

ดร.สุพจน์ ชินวีระพันธุ์ กรรมการและผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) อธิบายว่า สมาคมฯ มีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากรในด้านอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยปัจจุบันนี้สมาคมฯ มีสมาชิกรวมทั้งสิ้นกว่า 8,000 ราย ในส่วนของสมาชิกนิติบุคคลซึ่งอยู่ในภาคอุตสาหกรรม มีจำนวนกว่า 75% เป็นสถานประกอบการที่มีการร่วมทุนจากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น สมาคมฯ จึงต้องเผยแพร่ความรู้พื้นฐานด้านการผลิตที่มาจากประเทศญี่ปุ่น ให้กับภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในอุปสรรคสำคัญของการดำเนินงานที่ทุกธุรกิจต้องเจอในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา คือการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ซึ่ง ดร.สุพจน์มองว่า ธุรกิจทั่วโลกเกิดการสะดุด ทั้งซัพพลายเชนและทรัพยากรบุคคลในการดำเนินงาน เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น แรงงานที่มีทักษะที่เคยอยู่ในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการก็ไม่ได้กลับมา 100% วัสดุอุปกรณ์หรือระบบการทำงานบางอย่างที่เป็นที่ต้องการก็ไม่เพียงพอ ดังนั้น เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต้องกลับมาดูว่าหลังโควิดนั้น ผู้ประกอบการจะปรับตัวปรับกระบวนการบริหารจัดการอย่างไรให้ฉับไว มีประสิทธิภาพเพื่อตอบรับกับอุปสงค์ที่กลับเข้ามา ในด้านของความปลอดภัยในโรงงานที่เป็นอีกเรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจ ปัจจุบันก็มีการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยในเรื่องการบำรุงรักษาเพื่อป้องกันและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไปพร้อมๆ กันและนอกจากนี้ อุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับ Decarbonization หรือการลดปริมาณคาร์บอนในกระบวนการผลิต เพราะถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนของทั่วโลก ซึ่งจะต้องเกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่ต้องสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร เพราะทุกอุตสาหกรรมต้องอยู่บนพื้นฐานเกี่ยวข้องกับความยั่งยืน

“การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะเป็นตัวสำคัญในการตัดสินความเป็นความตาย ถ้าไม่ทำเราอยู่ไม่ได้ เราต้องการช่วยผู้ประกอบการให้สอดคล้องไปกับเกณฑ์โลก เพราะความปลอดภัยถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม”

ทั้งนี้ สมาคมฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้เติบโต จึงได้ร่วมเป็นผู้จัดงาน SISTAM 2023 – Smart Industrial Safety & Technology for Advanced Maintenance หรืองานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมความปลอดภัยอัจฉริยะ และเทคโนโลยีเพื่อการบำรุงรักษาชั้นสูง เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม 2566 และด้วยปีนี้ถือเป็นวาระครอบรอบ 50 ปีของสมาคมฯ จึงได้เปิดตัวโครงการ Thailand-Japan Decarbonization Initiatives (TJDI) อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศที่ช่วยผลักดัน และให้การส่งเสริมองค์ความรู้ พัฒนาบุคลากร และองค์กรต่างๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้ง CO2 ตอกย้ำบทบาทของสมาคมฯ ต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ก้าวตามเทรนด์โลก

ด้านคุณนุชรินทร์ ภารดีวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซโปซิส จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาการจัดงานในมิติของภาคอุตสาหกรรม ในประเทศไทยเน้นงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิต แต่ยังไม่มีงานด้านด้านความปลอดภัยและการบำรุงรักษาที่เฉพาะเจาะจงแบบนี้ จึงเป็นที่มาของการผนึกความร่วมมือกับภาคี ทั้ง กรมโรงงานอุตสาหกรรม สมาคมวิศวกรรมความปลอดภัย สมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย ซึ่งทุกหน่วยงานเห็นร่วมกันว่า เราจะมีเทคโนโลยีอะไรช่วยส่งเสริมความปลอดภัยให้กับภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น จึงอยากจะมีการจัดงานที่สร้างคอมมูนิตี้ของผู้ประกอบการในด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยและการบำรุงรักษา ซึ่งจุดแข็งของเอ็กซโปสิสคือมีฐานข้อมูลที่พร้อม และจะสามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดให้ผู้ร่วมออกงานที่มีธุรกิจเฉพาะทาง สามารถพบกับผู้ประกอบการหรือผู้ซื้อที่ตั้งใจหาสินค้าหรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ได้ตรงเป้าหมาย

“ในภาคการผลิตอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยใหญ่เป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย เพราะฉะนั้นงานนี้จะเน้นให้เห็นว่าเราไม่ได้เน้นแค่การผลิตและส่งออก แต่เรามีรากฐานของอุตสาหกรรม เพราะถ้าไม่มีความปลอดภัยก็เท่ากับไม่มีความยั่งยืน การลงทุนกับระบบความปลอดภัย เช่น อุปกรณ์เซ็นเซอร์ เทคโนโลยีดิจิทัล ฯลฯ นอกจากทำให้ลดความเสี่ยงการเกิดความเสียหาย ลดต้นทุนการบำรุงรักษาในระยะยาว ยังเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน”

คุณนุชรินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า กลุ่มเป้าหมายของงาน SISTAM คือกลุ่ม B2B คือกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมรายใหญ่ประมาณ 50% และขนาดกลางกับรายย่อยอีกประมาณ 50% โดยจะมีให้ผู้ร่วมออกงาน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง มานำเสนอนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยและการบำรุงรักษา มีเวลาสัมมนาและการอบรมที่หลากหลายพร้อมตอบโจทย์ความต้องการภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ งาน SISTAM 2023 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา​ภายในงานมีการจัดแสดงสินค้า นวัตกรรม เทคโนโลยี และบริการ รวมถึงการประชุมสัมมนาหลากหลายหัวข้อ ด้านระบบความปลอดภัยและการบำรุงรักษาเพื่อผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมจากองค์กรชั้นนำทั่วโลก สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมงาน SISTAM 2023 ได้ที่ โทร.02-5590858 และ https://sistam-asia.com/

…………………………………………..

📍www.indyreport.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *