🔴 (ช.ส.ท.) จัดใหญ่โครงการท่องเที่ยวรถไฟมหาสนุก “มานะ มานครฯ มาหาศรัทธา” พาสื่อมวลชนและนักท่องเที่ยววัยเก๋าส์กว่า 80 กว่าชีวิตเดินทางสู่จังหวัดนครศรีธรรมราช กระตุ้นท่องเที่ยวภาคใต้



ชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว (ช.ส.ท.) ร่วมกับ ททท.ภูมิภาคภาคใต้ และ ททท.นครศรีธรรมราช จัดโครงการท่องเที่ยวรถไฟมหาสนุก “มานะ มานคร มาหาศรัทธา” ระหว่างวันที่ 6-10 กรกฎาคม นี้ นำโดย นางวรางคณา สุเมธวัน ชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว (ช.ส.ท.) พาคณะสื่อมวลชนและนักท่องเที่ยววัยเก๋าส์ จำนวนกว่า 80 คน เดินทางโดยรถไฟขบวนทักษิณารัถย์ สู่จังหวัดนครศรีธรรมราช ในโอกาสนี้ นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และว่าที่ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ให้เกียรติมาส่งคณะเดินทาง อันเป็นการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวรถไฟมหาสนุกให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการเดินทางโดยรถไฟในโอกาสต่อไปดัวย
       เสน่ห์ของการเดินทางครั้งนี้อยู่ที่การได้ย้อนรำลึกถึงการเดินทางโดยรถไฟสมัยก่อน สองข้างทางรถไฟจะมีพ่อค้า แม่ค้า นำของมาขาย เช่นก๋วยเตี๋ยวแห้งที่สถานีราชบุรี ขนมหม้อแกงที่สถานีเพชรบุรี ปาท่องโก๋+กาแฟร้อนที่สถานีหัวหินเป็นต้น นี่คือเสน่ห์สองข้างทางรถไฟที่เราจะพบได้ นอกจากนั้น ช.ส.ท. ได้นำคณะสื่อมวลชนและคนวัยเก๋าส์ทั้ง 84 คนได้สัมผัสและเรียนรู้ความเป็น “นครตามพรลิงค์” ในอดีต หรือนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน เพื่อเก็บไว้เป็นความภาคภูมิใจว่า นครศรีธรรมราชคือหนึ่งในสยามที่เป็นเลิศในอารยะธรรม วัฒนธรรม และศิลปที่ควรเชิดชู
 
       นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และว่าที่ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “วันนี้เราก็ได้มาร่วมกับชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งก็ถือว่าดีมากๆ เพราะว่าชมรมสื่อมวลชนฯ แน่นอนว่าเวลาที่ทำอะไรก็จะเป็นข่าวอยู่แล้ว ซึ่งสื่อมวลชนกลุ่มนี้ก็เป็นสื่อมวลชนที่ชอบเดินทางท่องเที่ยว ชอบเดินทางท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่พอยังชวนคนอื่นเดินทางท่องเที่ยวด้วย ซึ่งครั้งนี้จะเดินทางลงใต้กันไปที่นครศรีธรรมราชแล้วก็จะไปกลุ่มนักท่องเที่ยววัยเก๋า Active Senior เป็นวัยเก๋าที่ชอบเดินทางท่องเที่ยว สัมผัสชีวิตแล้วก็สัมผัสในเรื่องของประสบการณ์การท่องเที่ยวใหมๆ จะได้ลงไปในชุมชนต่างๆ ในภาคใต้แล้วก็จะได้ไปทานอาหารอร่อยๆ แวะซื้อสินค้าโอทอป และที่สำคัญก็คือว่าเราจะได้นำรอยยิ้มไปให้ผู้ประกอบการที่อยู่ทางภาคใต้ 
 
นอกเหนือจากนั้นครั้งนี้เราไปภาคใต้ แต่เราก็มีอีกหลายหลายภาค ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคตะวันออก เราก็จะไปให้ครบทุกที่และก็พยายามทำให้ผู้สูงวัยหรือวัยเก๋าสามารถที่จะเดินทางได้ 365 วันเช่นเดียวกัน ทำกิจกรรมอะไรที่ตอบโจทย์ในด้านของวัยเก่าก็ทำได้ไม่ใช่แค่ไว้เก่าในประเทศไทย วัยเก่าที่อยู่ต่างประเทศก็สามารถที่จะเดินทางท่องเที่ยวแบบวัยเก่าในประเทศไทยเหมือนกัน และที่สำคัญอีกส่วนนึงเราเน้นในเรื่องของการเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงในหลายๆ แบบ รถไฟก็ได้รับการพัฒนาอย่างดีมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยเองก็ได้มีการนำเรื่องของขบวนหัวจักรใหม่ๆ ที่จะนำมาส่งเสริมเป็นไฮไลท์ในเรื่องของการส่งเสริมการขายในด้านการเดินทางท่องเที่ยว ถือว่าเป็นความร่วมมือที่ดีระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและการรถไฟแห่งประเทศไทยรวมถึงในส่วนของสื่อมวลชนที่เป็นน้ำดีมากๆ ที่ช่วยในการสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวค่ะ”

นางสาวฐาปนีย์  กล่าวเสริมว่า  : ส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่าจำนวนไฟล์ทที่ไปเพิ่มขึ้นมากๆ แม้แต่จำนวนอัตราการเข้าพักก็สูงมากขึ้น และในปีนี้เราเปิดตัว unseen news series ที่ผ่านมา หนึ่งใน 25 unseen news series ก็อยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชเช่นเดียวกัน คือ แพนเค้ก ร็อค หรือ ชั้นหินพับผ้า ซึ่งสวยงามตระการตามาก อยากให้ไปสัมผัสมากๆ ไปแล้วจะลืมแพนเค้ก ร็อคในต่างประเทศเลย ที่สำคัญที่แพนเค้ก ร็อคเองก็มีการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน ทั้งชุมชนและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวเอง เมื่อพานักท่องเที่ยวไป เขามีกระบวนการในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ”

   
   นางวรางคณา สุเมธวัน ประธานชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว (ช.ส.ท.) กล่าวว่า “ชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว (ช.ส.ท.) ร่วมกับ ททท. จัดโครงการท่องเที่ยวรถไฟมหาสนุก “มานะ มานครฯ มาหาศรัทธา” ขึ้นโดยประสานความร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นำคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลาง กว่า 30 ท่าน และนักท่องเที่ยววัยเก๋า จำนวนกว่า 50 ท่าน เดินทางโดยรถไฟขบวนทักษิณารัถย์ จากสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงสถานีชุมทางทุ่งสง สู่เส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงภายในจังหวัดนครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. และว่าที่ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มาส่งคณะเดินทาง และ นายวิเชียร รามมะเริง ผู้ช่วยสารวัตรเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย รฟท. อย่างพร้อมเพรียงอบอุ่นด้วย
บรรยากาศคึกคักครึกครื้นเป็นที่น่าประทับใจ นับเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ประสบการณ์สัมผัสเสน่ห์ให้ชวนย้อนรำลึกถึงการเดินทางด้วยรถไฟสมัยก่อนแก่คณะ และให้สามารถเปิดเส้นทางท่องเที่ยวรถไฟมหาสนุกให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการเดินทางโดยรถไฟในโอกาสต่อไปให้ได้ไปเยือนไปสัมผัสและเรียนรู้ความเป็น “นครตามพรลิงค์” ในอดีต หรือนครศรีธรรมราชในปัจจุบันเพื่อเก็บไว้เป็นความภาคภูมิใจว่า นครศรีธรรมราชคือหนึ่งในสยามที่เป็นเลิศในอารยะธรรม วัฒนธรรม และศิลปที่ควรเชิดชู อีกทั้งยังเป็นการท่องเที่ยวที่มีส่วนเสริมสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนรักษ์โลกสไตล์ Low Carbon อีกด้วย” 
     
 นางพิชญ์สินี ทัศน์นิยม ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานนครศรีธรรมราช กล่าวว่า “นครศรีธรรมราชของเราเรามี Gimmick ว่า “มานะ มานครฯ มาหาศรัทธา” และวันนี้ศัทธาที่เหนียวแน่นถือเป็นจุดเช็คอินหนึ่งของพวกเราที่ ศาลเจ้าฮกฮั้วเก็ง ที่อำเภอนาบอน ในนามของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยต้องขอขอบพระคุณพี่น้องสื่อมวลชนจากกรุงเทพนำโดย คุณวรางคณา สุเมธวัน ที่นำพี่น้องสื่อมวลชนมาเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์จังหวัดของเราว่ามีอะไรดี จังหวัดนครศรีธรรมราชองเราเป็นจังหวัดที่ชื่อว่าเป็นจังหวัดท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนฐานทุนทางวัฒรธรรม ถ้าเปรียบจังหวัดเหมือนแหวนวงหนึ่ง หัวแหวนของนครศรีธรรมราชคือความศรัทธา และตรงนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่เป็นความศัทธาที่เชื่อมโยงกับพี่น้องชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นจีนจากมาเลหรือสิงคโปร์ ต่างก็เป็นจุดหมายปลายทาง
 
  ดังนั้นนครศรีธรรมราชของเราสินค้าโดยภาพรวมโดยเนื้อแท้ของนครฯ ททท.เราแบ่งออกเป็นเรียกว่า 4 อา 5 รักษ์ อา ประกอบด้วย 1) อากาศ อากาศดีอยู่ที่คีรีวงศ์ ซึ่งเราผนวกอากาศดีแถมแหล่งน้ำที่บริสุทธ์ที่อยู่ที่อำเภอพิปูนเข้าไปด้วย 2) อาหาร อาหารถิ่นกินแล้วฟินเที่ยวอย่างสุนทรี กินแล้วมีตำนานเรื่องเล่าโดยเฉพาะอาหารของที่นี่ก็ต้องมาที่เรา และช่วงหลังเราเน้นว่านอกจากกินอร่อยแล้ว เราจะให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพ กินอย่างไรให้เป็นยา กินตามธาตุราศี และเน้นอาหารปลอดสารพิษ และนี่คือวัฒนธรรมเรื่องการกินของเรา และ 3) อาภรณ์ เรามีผ้ายกเมืองนคร เรามีเครื่องถม เครื่องเงิน กระเป๋าย่านลิเพา ของเหล่านี้บงชี้ว่านครศรีธรรมราชของเราไม่ธรรมดา เพราะว่าเมืองซึ่งมีของเหล่านี้ซึ่งเป็นเครื่องราชบรรณาการตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมาบ่งชี้ว่าเราคือเมืองหลวงเมืองหนึ่งและ 4)อาราม แนานอนค่ะว่าวัดมหาธาตุวรวิหารที่เรากำลังรณรงค์เป็นมรดกโลกอยู่ และทุกคนปฏิเสธไม่ได้ว่าในเรื่องของความศรัทธาก็คือ วัดเจดีย์ ซึ่งมี ไอ้ไข่ วัดพรานบุญ รวมถึงศาลเจ้าต่างๆก็คือเป็นแหล่งที่ได้กระจายนักท่องเที่ยวมาหลากหลาย ซึ่งทางททท.ทำเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อศรัทธาไว้มากกว่า 20 เส้นทาง และเรามีเกจิอาจารย์ที่ดับคืนไปแลวร่างไม่เน่าไม่เปื่อยมากถึง 33 รูป ดังนั้นบอกได้เลยว่ามานครฯ เรามีศรัทธานำ
 
      ส่วน 5 รักษ์ นั้น ชื่อของจังหวัดนครศรีธรรมราชเรามี “ร” ครอบครองถึง 5 ตัว เป็นจังหวัดที่มีความรักมากมายแต่ไม่หวังครอบครอง 5 รักษ์ คือ 1) รักธรรมะ เมืองธรรมะลือนาม สมญานามนครศรีธรรมราช 2) รักษ์ธรรมชาติ ท่องเที่ยวอย่างรู้คุณค่า รักษาธรรมชาติให้อยู่นาน 3) รักษ์ศิลปะหัตถกรรม งานฝีมือล้ำค่า รักษาภูมิปัญญาบรรพชน 4) รักวัฒนธรรมเชิดชูประเพณี วัฒนธรรมอันล้ำค่า มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประเพณีบุญสารทเดือนสิบแม้แต่วัฒนธรรมเราก็คือต้นกำเนิดที่ยิ่งใหญ๋ และ 5) รักความเป็นคนธรรมดา วิถีชุมชนที่ธรรมดาแต่ซ่อนความสวยงามน่าค้นหามากมาย เราเน้นชุมชนซึ่ง 12 ชุมชนที่เรานำเสนอขายและในทริปของท่านก็จะได้ชม ชุมชนพรหมโลกพรมหมใจเหลืออีก 10 ชุมชนชุมชน เชื่อว่าจะได้ต้อนรับคณะของท่านอีกต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ค่ะและนี่คือ DNA ของนครศรีธรรมราช และย้ำอีกทีว่าสินค้าของเราคือ 4 อา 5 รักษ์ และอยากบอกว่าเรารักทุกคนและต้นทุนของเราไม่น้อยกว่าที่อื่นเลย ดังนั้น โมเม้นต์ที่ใช่ สร้างได้ไม่ต้องรอค่ะ” 
📍โดยกำหนดการเดินทางสัมผัสสู่เส้นทางท่องเที่ยวรถไฟมหาสนุก “มานะ มานครฯ มาหาศรัทธา” หลังจากเดินทางมาถึงสถานีชุมทางทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ดังนี้
 
       วันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม 2566 : คณะฯ เดินทางไปเยือนชุมชนผู้คนน่ารักนาบอน อำเภอนาบอน ผอ.พิชญ์สินี ทัศน์นิยม ผู้อำนวยการ สำนักงานนครศรีธรรมราช ททท. ดูแลพื้นที่ นครศรีธรรมราชและพัทลุง , คุณจรูญ สุทธิจุฑามณี ประธานมูลนิธิบุญประทีป ศาลเจ้าฮกฮั้วเก็ง , คุณศรีสุข เศียรอุ่น ปลัดอาวุโส อำเภอนาบอน รักษาราชการแทนนายอำเภอนาบอน ให้การต้อนรับ ณ ศาลเจ้าฮกฮั้วเก็ง สัมผัสวิถีถิ่นอันเก่าแก่
 

 

  ชิมขนมพื้นบ้านอาหารพื้นเมืองเอกลักษณ์​เฉพาะถิ่นนาบอน อาทิ เยี่ยมชมการสาธิตการทำขนมแปะโอ่ง เส้นหมี่นาบอน ขนมพื้นบ้านอาหารพื้นถิ่นขึ้นชื่อนาบอน ณ ร้านเฉินซังไท่ หลากหลายเมนูให้ลิ้มลองพร้อมสัมผัสบรรยากาศเมืองน่ารักใกล้สถานีรถไฟ ณ ร้านน้ำชาโกฉิ้ง สัมผัสบรรยากาศบ้านเรือน-ตลาด-ย่านเมืองเก่า นาบอน และเพลิดเพลินสาระฟังเรื่องเล่าที่มาชุมชนไทยเชื้อสายจีนเก่าแก่ดั้งเดิม แวะเยี่ยมชมบรรยากาศศาลเจ้าเก่าแก่ ซึมซับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ร่วมกันไทย-จีน

 

 
 
หลังจากนั้นเดินทางไป อำเภอช้างกลาง เพลิดเพลินบรรยากาศเส้นทางถนนสายโรแมนติก สักการะขอพรพระอริยสงฆ์ผู้มีวาจาสิทธิ์ลือเลื่องเรื่องอภิญญาแห่งแดนใต้ พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ วัดธาตุน้อย กราบขอพรสรีระพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ ที่ประดิษฐานภายในองค์เจดีย์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในบริเวณวัดเป็นสิริมงคล
 

   
 แวะสัมผัสบรรยากาศงดงาม จุดชมวิวเขาเหมน (เขาพระสุเมรุ) แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการขนานนาม “ฟูจิยาม่าเมืองไทย” เดินทางต่อไปยัง “บ้านคีรีวง” อำเภอลานสกา นครศรีธรรมราช เยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยว “คีรีวง” ที่ขึ้นชื่อว่ามีอากาศดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

 

แหล่งผลิตและสาธิตการทำผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ณ “กลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติบ้านคีรีวง” (หรือ) “กลุ่มหัตถกรรมหมู่บ้านคีรีวง” (หรือ) “กลุ่มลูกไม้บ้านคีรีวง” (หรือ) “กลุ่มใบไม้” (หรือ) “กลุ่มผ้าบาติก” พร้อมเช็คอินบรรยากาศและถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึก ณ บริเวณสะพานคีรีวง รับประทานอาหารเย็น ณ ร้านโอโซน เข้าที่พัก ณ โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งจะพักที่นี่เป็นเวลา 2 คืน
 
วันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม 2566 : ออกเดินทางไป วัดยางใหญ่ อำเภอท่าศาลา สักการะขอพร “ตาพรานบุญ” พรานผู้ยิ่งใหญ่ศักดิ์สิทธิ์ เสริมดวง เสริมโภคทรัพย์  ณ วัดคงคาล้อม หรือที่รู้จักกันในปัจจุบันในนามวัดยางใหญ่ ตำบลท่าขึ้น อำเภอท่าศาลา เป็นวัดเก่าแก่สมัยโบราณ พร้อมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในบริเวณวัด 
 
   
 
   
หลังจากนั้นเดินทางไป วัดเจดีย์ อำเภอสิชลสักการะขอพร “ไอ้ไข่” ตามตำนานเด็กวัดเจดีย์ที่ลือเลื่องเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ “ขอได้ ไหว้รับ” จนได้รับการขนานนาม “เทพแห่งสามัญชน” ณ วัดเจดีย์ ตำบลฉลอง อำเภอสิชล
และเดินทางไป “วัดสุชน” อำเภอสิชล “สักการะ ท้าวเวสสุวรรณ” ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์อานุภาพลือเลื่องเรื่องความศักดิ์สิทธ์ ขอบารมีขอพรในอำนาจวาสนา สูงสุดทางมหาเศรษฐี ขจัดสิ่งอัปมงคล ณ วัดสุชน ตำบลสิชล อำเภอสิชล
 
 
   
เดินทางไป อำเภอขนอม (ถนนเลียบชายทะเลขนอม – สิชล) (เขาพลายดำ-อ่าวท้องหยี – ขนอม) สัมผัสบรรยากาศธรรมชาติงดงามบนถนนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นถนนสายสวยที่สุดแห่งอ่าวไทยแวะถ่ายภาพ รับประทานอาหารกลางวัน ณ ร้านขนอมซีฟู้ด
เดินทางไป เนินเทวดา-เนินนางฟ้า ชมทัศนียภาพ/ถ่ายภาพ “หาดในเพลา” หาดที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอขนอม ลักษณะหาดเป็นแนวยาวโค้ง โอบล้อมด้วยภูเขา ที่ยังคงมีความงดงามตามธรรมชาติ หาดทรายขาวเนียนตา น้ำทะเลใส รับประทานอาหารเย็น ณ ท่าศาลาซีฟู้ด เดินทางเข้าอำเภอเมือง นครศรีธรรมราช สัมผัสบรรยากาศวิถีอาหารถิ่นลิ้มลองน้ำชา-โรตี ไนท์ไลท์สไตล์เมืองนคร ณ ร้านโรตีโกบัง
 

 

    วันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม 2566 : เดินทางไปวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (ถนนราชดำเนิน) กราบสักการะขอพร “องค์พระบรมธาตุเจดีย์” และร่วมกันทอดผ้าถวายพระบรมธาตุ วัดเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
และเดินทางไปกราบสักการะ พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่บ้านควรเมืองนครองค์แท้ 1 ใน 3 ของประเทศไทย ณ หอพระพุทธสิหิงค์ (ตั้งอยู่ภายในบริเวณศาลากลางจังหวัดฯ อำเภอเมือง) เป็นสิริมงคล 

 

 

 

 

       จากนั้นเดินทางต่อไปยังแหล่งเรียนรู้สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จักสานย่านลิเภา ชมการสาธิตและผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมจักสานย่านลิเภาหัตถศิลป์ล้ำค่าของเมืองนครและเลือกจับจ่ายใช้สอยผลิตภัณฑ์ย่าน ลิเพาเป็นของฝากของที่ระลึก ณ กลุ่มจักสานย่านลิเภาโพธิ์เสด็จ แวะเลือกซื้อหาสินค้าที่ระลึกเมืองนคร อาทิ เครื่องถม เครื่องเงิน ย่านลิเพา ผ้ายกเมืองนคร นะโม เป็นต้น ณ ถนนสายหัตถกรรมท่าช้าง (ด้านหลังอาคารสโมสร–ททท. สำนักงานนครศรีธรรมราช) 
 
     
 จากนั้นเดินทางไปกราบสักการะ “ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช” ลือเลื่องเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นสิริมงคล และตามรอยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
เยี่ยมชมโบราณสถานโบราณวัตถุแหล่งท่องเที่ยวเด่นที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ณ เก๋งพระเจ้าตาก วัดประดู่พัฒนาราม
 
       นางณัฐกฤตา ดุลย์เภรี หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมการท่องเที่ยว เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ผู้แทนนายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ให้การต้อนรับต้อนรับคณะฯ กล่าวว่า “ภายหลังจากโควิดได้ซาลง จังหวัดนครศรีธรรมราชของเราก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวสนใจเข้ามาเที่ยว โดยเฉพาะสายมูเรื่องของความศัทธาที่ท่องเที่ยวก็จะมี วัดมหาธาตุวัดเจดีย์ไอ้ไข่ และสถานที่แห่งนี้ก็คือศาลหลักเมืองของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีชื่อเสียงของเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ “ขอได้ ไหว้รับ”
สำหรับเรื่องการรณรงค์การท่องเที่ยวแบบ Low Carbonก็คือเป็นการท่องเที่ยวอีกแบบหนึ่งที่เป็นการลดก๊าซคาร์บอนเชิงธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแบบการเดินเท้าหรือใช้จักรยาน ซึ่งตอนนี้มีแนวคิดในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงหาประสบการณ์ในการเดินเท้า เที่ยวในย่านเมืองเก่า ในย่านวัดมหาธาตุ จะมีรถชมเมืองไม่ว่าจะเป็นที่ เก๋งพระเจ้าตาก รถรางหรือการเดินเท้าเดินชมในย่านต่างๆ เช่น ย่านวัดมหาธาตุที่มีชุมชนที่มีชื่อเสียงในเรื่องในด้านของเครื่องถมเครื่องเงินวิถีชีวิตการทำขนมหนังตลุงรอบชุมชน

 

 

 
จากนั้นคณะเดินทางมารับประทานอาหารกลางวัน ณ อาคารเอนกประสงค์เทศบาลตำบลพรหมโลก อิ่มอร่อยหลากหลายเมนูอาหารถิ่นสไตล์ปิ่นโตชุมชนและลิ้มชิมรสเมนูขนมพื้นบ้าน ผลไม้พื้นถิ่นช่วงต้นฤดูกาลผลไม้จากชาวสวนผลไม้สมรม เลือกซื้อหาและเยี่ยมชมการสาธิต นำเสนอผลิตภัณฑ์เด่นด้านการท่องเที่ยวและสินค้าพื้นเมืองชุมชนจากสถานประกอบการ ชุมชน บูธชุมชน/สินค้าพื้นเมือง เพาะรัก 2 ภูฟาร์ม โดยนางสาววนิดา ศรีราเพ็ญ, D.I.Y. ร้อยลูกปัดมโนราห์, ปักผ้าปาเต๊ะ, การทำไม้กวาดดอกหญ้า, ไตปลาแห้งครัวคุณตา, เรือนไทยพรหมคีรีและพันธมิตร ผู้คนในชุมชนที่มาต้อนรับด้วยมิตรไมตรี ท่ามกลางบรรยากาศที่โอบล้อม ด้วยขุนเขาจากเทืองเขาหลวง หลังคาแดนใต้ 

 
นายปารเมศ เห้งสวัสดิ์ นายอำเภอพรหมคีรี “อำเภอพรหมคีรีมีพื้นที่ 5 ตำบล 35 หมู่บ้าน มีน้ำตก 3 แห่ง มีแหล่งท่องเที่ยว พี่เชิงวัฒนธรรมมีโบราณสถาณ มีโบราณวัตถุมีแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม วันนี้ที่เรามายืนอยู่ตรงนี้คือน้ำตกพรหมโลก เป็นหนึ่งในสามของอำเภอพรหมคีรีและก็สวยงามมาก แต่ว่าวันนี้ขอประธานโทษ ด้วยว่า ฟ้าฝนไม่เอื้ยอำนวยเท่าไหร่ ก็ได้เยี่ยมชมนิดหน่อย เดี๋ยวเราไปเยี่ยมที่วัดเขาขุมพนม ที่เป็นตำนานของสมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราช ก็ขอฝากพี่น้องประชาชนที่ได้มาเยี่ยมเยียนของอำเภอพรหมคีรี เรามีสโลแกนว่า “พักพรหมคีรีหนึ่งคืนอายุยืนหนึ่งปี” ก็ขอฝากพี่น้องประชาชนทั่วประเทศนักท่องเที่ยวนะครับเรามีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชิงอนุรักษ์ การเดินป่าก็ดี อุทยานแห่งชาติก็ดี วัตถุโบราณสถาณก็ดี ก็ขอเรียนเชิญทุกท่านให้มาเที่ยวที่อำเภอพรหมคีรี”

นายรังสิต เฉลิมวรรณ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลพรหมโลก “คำขวัญของอำเภอพรหมคีรี ถิ่นผลไม้ดก น้ำตกสะอาด ธรรมชาติล้ำค่า หลากภูมิปัญญาชาวบ้าน สืบสานวัฒนธรรม ซึ่งรวมความเป็นพรหมคีรีอยู่ที่คำขวัญ เพราะฉะนั้นเรามี ความหลากหลายรูปแบบ เพราะฉะนั้นรายละเอียดในการส่งเสริมการท่องเที่ยว เรามีทั้ง ทรัพยากรธรรมชาติ ที่อุดมสมบูรณ์ เรามีแหล่งวัฒนธรรม เรามีผลไม้ เรามีสิ่งต่างๆความเป็นธรรมชาติ อยู่ครบที่นี่ที่สำคัญ อาหารพื้นถิ่น ที่เป็นหลัก ที่เราอยากจะนำเสนอให้นักท่องเที่ยว”

นางสุภาพร เชาวพ้อง ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมพรหมโลก “เราคือชุมชนที่ทำท่องเที่ยว การท่องเที่ยวโดยชุมชน ก็คือว่า มาท่องเที่ยวกับชุมชนพักกับชุมชน ทานอาหารกับชุมชน เที่ยวสวน เที่ยววิถีชีวิตที่เป็นธรรมชาติของเรา ก็คือสวนผลไม้ เราภูมิใจที่ความเป็นผลไม้ที่มีความอร่อยจากดินแดนที่ภูเขาสวยน้ำตกสวยทำให้อาหารเราอร่อยด้วย ก็อยากเชิญชวนให้มาเที่ยวชุมชนพรหมโลก การที่ได้มาเที่ยวชุมชนพรหมโลก ก็คือการที่จะได้สัมผัสกับ คนในชุมชนจริงๆ ได้ทานอาหารกับคุณชุมชน ได้พักได้ได้อยู่ทำกิจกรรมร่วมกันกับคนในชุมชน และรายได้ก็กลับจ่ายกับคนในชุมชน ส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว เรารู้สึกว่าในการทำแบบนี้ ทำให้เราอยู่ได้อย่างยั่งยืน และลูกหลานจะภาคภูมิใจ ที่จะอยู่ในชุมชน”
 

 

เยี่ยมชมทิวทัศน์ธรรมชาติงดงาม “น้ำตกพรหมโลก” น้ำตกขนาดใหญ่สวยงามที่  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จประพาส ณ น้ำตกแห่งนี้ และทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “ภ.ป.ร.” และ “ส.ก.” ไว้ที่หน้าผาน้ำตกชั้นที่ 1 (หนานวังน้ำวน) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2502

 

นายวัยพจน์ เพ็ชรไทยพงค์ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ที่ ขล.1 หน่วยน้ำตกพรหมโลก “จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจน้ำตกพรหมโลก จะมีลายพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 9 ที่ท่านได้เสด็จมา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2502 น้ำตกพรหมโลกจะมีทั้งหมด 50 ชั้นแต่ทางอุทยานจะเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวเพียงแค่สิบชั้น”

 

 

 

   
   เดินทางไปตามรอยเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โบสถ์มหาอุตม์และกราบสักการะ “พ่อท่านกลาย วิปุโล” (พระครูวิบูลย์รักษ์) อภิญญาย่นย่อระยะทางเดินทางเท้า พระผู้เป็นต้นแบบแห่งความสมถะ ณ วัดเขาขุนพนม โดยนายธนากร ธราพรสกุลวงศ์ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ เทศบาลตำบลพรหมโลก (มัคคุเทศก์บรรยาย)
 
 
   
 
ก่อนเดินทางไปยัง จุดชมวิวเขาช้างสี อำเภอลานสกา แวะเช็คอินถ่ายภาพบรรยากาศประทับใจ เขาช้างสี สูดโอโซน ณ แหล่งท่องเที่ยวที่โอบล้อมด้วยแนวเทือกเขาหลวงหลังคาแดนใต้ จากนั้นเดินทางไปอำเภอทุ่งสงรับประทานอาหารมื้อเย็น ณ ร้านชานเมือง อำเภอทุ่งสงก่อนเดินทางไปสถานีชุมทางทุ่งสง ออกเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร โดยรถไฟขบวนที่ 32 ทักษิณารัถย์

 

 

 

 
       วันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคม 2566 : สัมผัสอาหารสองข้างทางรถไฟ กาแฟ+ปาท่องโก๋  ณ สถานีรถไฟหัวหิน ขนมหม้อแกงเมืองเพชร ณ สถานีรถไฟเพชรบุรี ชิมก๋วยเตี๋ยวแห้ง ณ สถานีรถไฟราชบุรี เดินทางถึง กรุงเทพมหานครโดยสวัสดิภาพ
       การจัดกิจกรรมในครั้งนี้นับเป็นการส่งเสริมการดำเนินด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดนครศรีธรรมราช ในมิติมุมมองของการเดินทางทางท่องเที่ยวด้วยไลฟ์สไตล์รักษ์โลก Low Carbon ด้วยกิจกรรมท่องเที่ยวรถไฟมหาสนุกเชื่อมโยงสู่การเดินทางท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวไฮไลท์ภายในจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ เส้นทางอำเภอทุ่งสง – นาบอน – ช้างกลาง – ลานสกา – เมือง – ท่าศาลา – สิชล – ขนอม – พรหมคีรี โดยเฉพาะได้รับการบูรณาการผสานความร่วมมือด้วยดียิ่งจากภาคีพันธมิตรเครือข่ายท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสถานประกอบการต่างๆ กระตุ้นให้เกิดการเดินทางและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวและกระจายรายได้สู่ชุมชน รวมถึงการผลักดันการท่องเที่ยวในบรรลุเป้าหมายการท่องเที่ยวและคาร์บอนต่ำสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
.…………………………………………….
📍www.indyreport.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *