วันพุธที่ 19 เมษายน 2566 เวลา 15.00 น. ณ ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน นำโดยนายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน หอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้า นักธุรกิจ และชาวแม่ฮ่องสอน ร่วมจัดกิจกรรมส่งผู้โดยสารขึ้นเครื่องบินนกแอร์ ซึ่งนับเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของเครื่องบินรุ่น Q400 แบบใบพัด ขนาด 86 ที่นั่ง ที่ทำการบินเส้นทางดอนเมือง – แม่ฮ่องสอน ของสายการบินนกแอร์ ซึ่งจะหยุดทำการบินหลังวันที่ 19 เมษายน 2566 เป็นต้นไป ด้วยเหตุผลที่สายการบินนกแอร์จะนำอากาศยานแบบ Q400 ขนาด 86 ที่นั่ง ส่งคืนให้กับผู้ให้เช่า
กิจกรรมดังกล่าว ทาง ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน และหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้จัดทำของที่ระลึกมอบให้กับกัปตัน ลูกเรือ ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานภาคพื้นดิน ของสายการบินนกแอร์ รวม 7 คน รวมทั้งมอบของที่ระลึกแก่ผู้โดยสารขาออก จำนวน 84 คน จาก 86 ที่นั่ง (คิดเป็น 97.67% ของจำนวนที่นั่ง) โดยนายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นผู้แทนชาวแม่ฮ่องสอน มอบของที่ระลึกดังกล่าว พร้อมกล่าวขอบคุณสายการบินนกแอร์ สายการบินของคนไทย ที่ได้มาให้บริการการบินในเส้นทาง ดอนเมือง – แม่ฮ่องสอน และ เส้นทาง เชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอน ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งช่วยส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว รวมทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ตลอดจนช่วยด้านการดูแลรักษาเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การอำนวยความสะดวกต่อบุคลากรทางการแพทย์ การเดินทางปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการ และผู้ประกอบธุรกิจ และเอื้อต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดเป็นอย่างดี โดยสถิติผู้โดยสารที่ผ่านมาในปี 2565 มีผู้โดยสารเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 76.50%
การหยุดทำการบินครั้งนี้ อาจทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนเสียโอกาสไปหลายด้าน แต่ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนก็เข้าใจเหตุผลความจำเป็นของสายการบินนกแอร์เป็นอย่างดี เนื่องจากมีการประสานงานกันมาอย่างต่อเนื่อง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสายการบินนกแอร์จะพิจารณากลับมาให้บริการในเส้นทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกในอนาคต หากสายการบินนกแอร์จะเปลี่ยนเป็นเครื่องบินเจ็ท โบอิ้ง 737 – 800 (ขนาด 189 ที่นั่ง) ก็นับเป็นโอกาสอันดีมากยิ่งขึ้น ที่จะช่วยส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และคุณภาพชีวิตของชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตลอดจนนักท่องเที่ยว ซึ่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนยินดีต้อนรับ พร้อมให้ความร่วมมือเสมอ และมีความพร้อมของสนามบินแม่ฮ่องสอน ที่มีทางวิ่งยาว 2,000 เมตร กว้าง 30 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่สามารถรองรับเครื่องบินเจ็ทได้ โดยเป็นสนามบินประเภททางวิ่งแบบ Instrument Runway (ทางวิ่งแบบบินลงด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน) แบบ Non-Precision Approach Runway ทางวิ่งที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ ประเภททัศนวิสัย และเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ ประเภทไม่ใช้ทัศนวิสัย เพื่อใช้สำหรับรองรับการปฏิบัติการบินลงด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน มีลานจอดอากาศยาน กว้าง 68 เมตร ยาว 305 เมตร รองรับอากาศยานแบบ ATR – 72 ได้พร้อมกัน จำนวน 4 ลำ และลานจอดเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 3 ลานจอด
ในอดีตการบินไทยเคยทำการบินในเส้นทางแม่ฮ่องสอนโดยใช้เครื่อง Boing 737 – 200 ขนาด 160 ที่นั่ง หรือแม้แต่เครื่องบิน C-130 ของกองทัพอากาศก็สามารขึ้นลงที่ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอนได้
สำหรับสถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกเที่ยวบิน และยังไม่มีสายการบินมาเปิดให้บริการหลังวันที่ 19 เมษายน 2566 ทางจังหวัดก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ททท. ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน หอการค้า สภาอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้กำลังผนึกกำลังร่วมกัน เพื่อพยายามประสานงานหาแนวทางผลักดันและส่งเสริมให้มีการเปิดบริการทางอากาศเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมและทุก ๆ ฝ่าย
…………………………………………………………………………………………………………………
📍www.indyreport.com