🔴 ช.ส.ท. หนุนท่องเที่ยวนำสื่อและนักท่องเที่ยวร่วมกิจกรรม “เที่ยวเมืองงาม นามพิจิตร” กระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นฟูท่องเที่ยว

 
ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน 2566 ที่ผ่านมาชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือ ช.ส.ท. นำโดยคุณวรางคณา สุเมธวัน ประธานชมรมฯ นำสื่อมวลชนจากส่วนกลางและคณะนักท่องเที่ยวกว่า 60 ท่าน ร่วมในกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว “เที่ยวเมืองงาม นามพิจิตร“ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจส่งเสริมการท่องเที่ยวกระจายรายได้สู่ชุมชน

จังหวัดพิจิตร เป็นจังหวัดเก่าแก่มากจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี “พิจิตร” แปลว่า “งาม” เมื่อกล่าวถึงเมืองพิจิตรจึงหมายถึง เมืองงามเมืองที่มีเสน่ห์ประทับใจ นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือเป็นที่ประสูติของพระเจ้าเสือ หรือ “พระศรีสรรเพชรญ์ที่ 8” พระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยา และเป็นเมืองที่ให้กำเนิดนักปราชญ์ราชบัณฑิต คือ พระโหราธิบดี บิดาของศรีปราชญ์ ดังมีคำขวัญว่า “ถิ่นประสูติพระเจ้าเสือ แข่งเรือยาวประเพณี พระเครื่องดีหลวงพ่อเงิน เพลิดเพลินบึงสีไฟ ศูนย์รวมใจหลวงพ่อเพชร รสเด็ดส้มท่าข่อย ข้าวเจ้าอร่อยลือเลื่อง ตำนานเมืองชาละวัน” โดยสภาพทั่วไปของจังหวัดพิจิตรเป็นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านไหลผ่าน ทั้ง 2 สายไหลผ่านจังหวัดเกือบเป็นลักษณะเส้นขนานทางทิศเหนือสู่ทิศใต้ โดยมีแม่น้ำพิจิตร​ (แม่น้ำเดิม) อยู่ระหว่างกลางความยาวของแม่น้ำน่านที่ไหลผ่านจังหวัดมีระยะทาง 97 กิโลเมตร และความยาวของแม่น้ำยมที่ไหลผ่านจังหวัดระยะประมาณ 128 กิโลเมตร


โดยโปรแกรมในวันแรก : “พาสาน” อาคารสัญลักษณ์ต้นน้ำเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์, “ศาลเจ้าพ่อแก้ว” บางมูลนาก จ.พิจิตร, ตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก สัมผัสวิถีชุมชนที่ไม่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา, วัดสุขุมาราม วัดที่ประดิษฐานพระพุททธไสยาสน์ที่งดงามมีความยาวถึง 55 เมตร, บึงสีไฟ ชมพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ “สถานแสดงพันธุ์ปลาเฉลิมพระเกียรติ” เป็นศาลาเก้าเหลี่ยมอาคารรูปดาวเก้าแฉกยื่นลงไปในบึงสีไฟ ชม​ รูปปั้นพญาชาละวัน รูปปั้นจระเข้ที่มีความยาวถึง 38 เมตร กว้าง 6 เมตร ปากยาว 4.5 เมตร ที่โดดเด่นและสวยงาม ยามเย็นชมความงามของพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าที่บึงสีไฟ เก็บภาพความงามความประทับใจร่วมกัน 
 

“พาสาน”
สถาปัตยกรรมสุดล้ำสัญลักษณ์แห่งต้นแม่น้ำเจ้าพระยา เมืองปากน้ำโพ นครสวรรค์ ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คสำคัญ จุดกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และส่งเสริมเศรษฐกิจในปากน้ำโพ ลักษณะเด่นของ “พาสาน” อาคารถูกออกแบบเป็นเส้นสายโค้งมาบรรจบกันคล้ายการรวมตัวกันของสายน้ำ ชื่อ “พาสาน” มีที่มาจากคำว่า “ผสาน” คือ การรวมกัน แต่ “พาสาน” คือ การพาคนเข้าไปสานให้เกิดการผสมผสานกันระหว่าง คน สถานที่ และช่วงเวลา โดยมีรูปแบบอาคารที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ ที่เป็นเอกลักษณ์ของแม่น้ำเจ้าพระยาถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นริมน้ำได้อย่างกลมกลืน
“ศาลเจ้าพ่อแก้ว” บางมูลนาก จ.พิจิตร ศาลเจ้าที่มีความงดงาม ซุ้มประตูมีการประดับประดาตกแต่งไปด้วยสัตว์ในตำนานของคนจีน
“ตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก” สัมผัสวิถีชุมชนชาวบางมูลนากในอดีตที่ยังคงไม่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาของยุคปัจจุบัน
“วัดสุขุมาราม” วัดที่ประดิษฐานพระพุททธไสยาสน์ที่งดงาม มีความยาวถึง 55 เมตร สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพืธีเฉลิมพระชนมพรรษา ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔

ชมพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ “สถานแสดงพันธุ์ปลาเฉลิมพระเกียรติ” เป็นศาลาเก้าเหลี่ยมอาคารรูปดาวเก้าแฉกยื่นลงไปในบึงสีไฟ​ ชมรูปปั้นพญาชาละวัน รูปปั้นจระเข้​ ที่มีความยาวถึง 38 เมตร กว้าง 6 เมตร ปากยาว 4.5 เมตร ที่โดดเด่นและสวยงาม ยามเย็นชมความงามของพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าที่บึงสีไฟ เก็บภาพความงามความประทับใจร่วมกัน
 
วันที่สอง : ร่วมทำบุญ “ตักบาตรทางน้ำคลองข้าวตอก” ณ วัดดงกลาง เมืองพิจิตร, สักการะ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม ท่าฬ่อ” ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ของชาวพิจิตรที่มีอายุกว่าร้อยปี และถัดจากศาลเจ้ายังมี “โรงเรียนยกเอ็ง” ในอดีตเคยเป็นโรงเรียนสอนภาษาไทย-จีน ปัจจุบันได้ทำเป็นห้องจำลองแสดงข้าวของเครื่องใช้ให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจเข้าชม, “ย่านเก่าวังกรด” แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Tourism Awards) สาขาท่องเที่ยวชุมชนประจำปี 2019 นั่งรถรางสัมผัสเสน่ห์วิถีชุมชนบ้านเรือน อาคารไม้เก่าแก่ สักการะเจ้าพ่อวังกลม ณ ศาลเจ้าพ่อวังกลม ชมอาคารตึกปูนหลังแรกของวังกรด ณ ตึกหลวงประเทืองคดี, เดินทางไปเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์” สัญลักษณ์แห่งมิตรภาพไทย-เวียดนาม, นมัสการพระคู่บ้านพิจิตร “หลวงพ่อเพชร” ณ วัดท่าหลวง วัดสำคัญของจังหวัดพิจิตร
 

วัดดงกลาง
อำเภอเมืองพิจิตร ร่วมสืบสานวิถีพุทธตักบาตรทางน้ำหนึ่งเดียวในจังหวัดพิจิตรณตลาดชุมชนคุณธรรมวัดดงกลาง​ จัดขึ้นทุกวันอาทิตย์บริเวณหน้าตลาดชุมชนคุณธรรมวัดดงกลาง​ คลองข้าวตอก 
 
“ศาลเจ้าแม่ทับทิม ท่าฬ่อ” ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ของชาวพิจิตรและจังหวัดใกล้เคียงภายในศาลเจ้ามีองค์เจ้าแม่ทับทิมเป็นองค์ประธานี่มีอายุกว่าร้อยปี ถัดจากศาลเจ้ายังมี “โรงเรียนยกเอ็ง” โรงเรียนในอดีตเคยเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนให้แก่คนไทยและสอนภาษาไทยให้กับคนจีน ซึ่งปัจจุบันภายในห้องเรียนได้ทำเป็นห้องจำลองและแสดงข้าวของเครื่องใช้ให้แก่นักท่องเที่ยวได้ชม

“ย่านเก่าวังกรด” เที่ยวชมย่านเก่าวังกรดแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Tourism Awards) สาขาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนประจำปี 2019 นั่งรถรางสัมผัสเสน่ห์วิถีชีวิตชุมชนบ้านเรือนอาคารไม้เก่าแก่ สักการะเจ้าพ่อวังกลม ณ ศาลเจ้าพ่อวังกลม ชมอาคารตึกปูนหลังแรกของวังกรด ณ ตึกหลวงประเทืองคดี

“พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์” สัญลักษณ์แห่งมิตรภาพไทย-เวียดนาม

นมัสการพระคู่บ้านพิจิตร “หลวงพ่อเพชร” ณ วัดท่าหลวง วัดสำคัญของจังหวัดพิจิตร

วันที่สาม : “อุทยานเมืองเก่าพิจิตร” สร้างในสมัยพระยาโคตรบอง​ เจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดพิจิตร มีลักษณะเป็นเมืองโบราณประกอบไปด้วยกำแพงเมือง คูเมืองเจดีย์เก่า ฯลฯ มีสวนรุกขชาติกาญจนากุมา,


“วัดโพธิ์ประทับช้าง” เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ 2242 – 2244 ในสมัยสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (ขุนหลวงสรศักดิ์หรือพระพุทธเจ้าเสือ) พระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน ณ สถานที่ประสูติของพระองค์ ลักษณะของวัดมีพระวิหารสูงใหญ่ มีกำแพงล้อมรอบ 2 ชั้น เป็นศิลปะแบบอยุธยา ปัจจุบันได้รับการบูรณะซ่อมแซมจากกรมศิลปากร เพื่ออนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ชม,
อำเภอตะพานหินชม “บ้านเก่าเสาปั้นจั่น” ซึ่งเป็นชื่อท่าเรือส่งสินค้าของอำเภอตะพานหิน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยตัวบ้านมีความเก่าแก่ เป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่ในตระพานหิน ลักษณะการออกแบบคล้ายๆ กึ่งพิพิธภัณฑ์ กึ่งแกลลอรี่ โดยแต่ละจุดในบ้านมีของเก่าที่หาชมได้ยากมาจัดแสดง บางชิ้นหลายคนยังไม่เคยเห็นอีกด้วย และที่น่าสนใจมากที่สุดคือ มุมถ่ายภาพที่สวยในทุกมุม แวะชิมกาแฟโบราณ “โกยี-ท่งหลี” ก่อนเดินทางกลับก่อนเดินทางกลับ
 
คุณวรางคณา สุเมธวัน ประธานชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว กล่าวว่า “เมื่อวันที่ 1 – 3 เมษายนที่ผ่านมานึ้ ชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว พาคณะเยี่ยมชม จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดพิจิตร จุดที่ผ่านนครสวรรค์นั้นเราพาเยี่ยมชมม “พาสาน” ซึ่งเป็นอาคารสัญลักษณ์ของต้นแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นอาคารรูปทรงสวยโดดเด่นซึ่งผสมผสานระหว่างชุมชนสิ่งแวดล้อมและความทันสมัยที่รวมตัวเข้ากันได้อย่างดีเยี่ยม เสร็จแล้วเราก็เดินทางไปยังจังหวัดพิจิตรซึ่งอยู่ไม่ไกลมากนักถึงแม้พิจิตรจะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่พิจิตรก็มีสิ่งที่น่าสนใจน่าเที่ยวน่าชมรวมทั้งยังมีพระศักดิ์สิทธิ์อยู่มากมายหลายองค์และหลายวัดด้วย 
 
ซึ่งที่นี่คงจะเคยได้ยินชื่อของ “ชาละวัน” ที่นี่ล่ะค่ะคือต้นกำเนิดของชาละวัน พระยาจระเข้ที่มีเรื่องราวเล่าขานในนิทานมานมนานเลย “บางมูลนาก” เป็นชุมชนที่เก่าแก่โบราณของเมืองพิจิตรที่หนึ่ง “มีศาลเจ้าพ่อแก้ว” เป็นที่เคารพสักการะ แล้วก็ยังได้มีโอกาสได้ชม “ตลาดฟื้นอดีตของชาวบางมูลนาก” สัมผัสวิถีชีวิตชุมชนของชาวมูลนาก ยังมีกลุ่มอนุรักษ์ของชาวบ้านมูลนากนะคะได้รวบรวมเก็บไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาแล้วก็ชื่นชม​ จากนั้นเราก็ไป​ “วัดสุขุมาราม” มีพระพุทธไสยาสน์ซึ่งมีความยาวถึง 55 เมตร สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ซึ่งใหญ่เท่าที่เคยเห็นมาในประเทศไทย ปัจจุบันก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาวพิจิตรอีกด้วย จากนั้นสิ่งที่น่าสนใจของพิจิตรซึ่งเป็น “สถานแสดงพันธุ์ปลาเฉลิมพระเกียรติ” มีตู้แสดงพันธุ์ปลาน้ำจืดหลากหลายชนิดนะคะ นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีรูปจำลองของพญาชาละวันซึ่งยาวถึง 38 เมตรกว้าง 6 เมตร โดนเฉพาะปากกว้างยาวถึง 4.5 เมตรเลยทีเดียว เป็นลักษณะโดดเด่นสวยงามซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ​ “บึงสีไฟ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามเย็นถ้ามีโอกาสได้ไปชมพระอาทิตย์ตกที่นี่ซึ่งมีความสวยงามมากจริงๆ ค่ะ 
คุณวรางคณา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อีกอย่างนึงของความประทับใจในการเดินทางครั้งนี้ก็คือการตักบาตรทางน้ำที่ “วัดดงกลาง” ซึ่งที่นี่จะมีการตักบาตรทางน้ำเกิดทุกวันอาทิตย์ อยู่ที่หน้าตลาดชุมชนคุณธรรมของวัดดงกลาง สัมผัสบรรยากาศของการที่เราได้ศึกษาวิถีพุทธจริงๆ ก็คือเราก็จะแต่งตัวชุดผ้าไทยสวยงามนั่งคอยอยู่ริมสองฝั่ง แล้วก็มีพระสงฆ์ท่านก็จะลงเรือมารับบิณฑบาตร เป็นบรรยากาศซึ่งเราชื่นใจมากๆ เลยค่ะ จากนั้นก็เราก็ไปที่ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม” ซึ่งถือว่าเป็นศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ของชาวพิจิตรและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งภายในศาลจะมีองค์เจ้าแม่ทับทิมเป็นประธาน เป็นวิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายจีนชุมชนไหหลำในประเทศไทยที่รวมกันอยู่ที่นี่ จากนั้นเราไปเที่ยวชม “ย่านเก่าวังกรด” ซึ่งที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยด้วยนะคะ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชนประจำปี 2019 เรานั่งรถรางชมเสน่ห์ของวิถีชีวิตชุมชนชมบ้านเรือนอาคารไม้เก่าแก่ แล้วก็ยังไปชิมอาหารอร่อยแปลกๆ ซึ่งราคาก็ถูกมากๆ เลยค่ะ สถานที่สำคัญของที่นี่อีกสองแห่งก็คือ “ตึกเก่าหลวงประเทืองคดี” ซึ่งเป็นอาคารปูนหลังแรกของอำเภอวังกรดแล้วก็มีอีกสถานที่หนึ่งก็คือ “พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์” ซึ่งที่นี่ก็คือการสัญลักษณ์มิตรภาพของไทย-เวียดนาม ที่รวบรวมเอาประวัติของท่านโฮจิมินห์ ซึ่งเราก็ยังไม่ได้เคยพบ แม้แต่รูปของท่านซึ่งจะเป็นรูปหนุ่มมากๆ ซึ่งที่พิพิธภัณฑ์อื่นเราไม่ได้เห็นภาพอย่างนี้นะคะ”

หลังจากนั้นเราก็ไปนมัสการ” หลวงพ่อเพชร  วัดท่าหลวง” ที่นี่ถือเป็นวัดสำคัญของเมืองพิจิตร แล้วก็ยังได้ไปชม “อุทยานเมืองเก่าพิจิตร” สร้างในสมัยพระยาโคตรบองเจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดพิจิตร อุทยานเมืองเก่านี้ี่เป็นลักษณะของเมืองโบราณมีประตูเมือง กำแพงเมือง คูเมือง เจดีย์เก่า ฯลฯ มีสวนรุกขชาติกาญจนกุมา จากนั้นน่าจะเป็นสุดท้ายของเรื่องราวของวัดนะคะเราไปวัดสุดท้าย “วัดโพธิ์ประทับช้าง” ซึ่งเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (ขุนหลวงสรศักดิ์หรือพระพุทธเจ้าเสือ) พระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่นี่เป็นอนุสรณ์สถานสันนิฐานว่าเป็นสถานที่ประสูติของพระองค์ ลักษณะของวัดมีพระวิหารสูงใหญ่ มีกำแพงล้อมรอบสองชั้นเป็นศิลปะแบบอยุธยา ซึ่งได้รับการบูรณะซ่อมแซมจากกรมศิลปากร เพื่ออนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ชม

จากนั้นสุดท้ายเลยเราก็ได้ไปชม บ้านเก่าเสาปั้นจั่น ซึ่งที่นี่เป็นท่าเรือส่งสินค้าของ อำเภอตะพานหิน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่ของอำเภอตะพานหินด้วยนะคะ ลักษณะการออกแบบคล้ายๆ กึ่งพิพิธภัณฑ์กึ่งแกลลอรี่ ซึ่งเจ้าของได้พยายามจัดหามาให้ชมโดยแต่ละจุดในบ้านมีของเก่าที่หาชมได้ยากมาจัดแสดง บางชิ้นหลายคนยังไม่เคยเห็นอีกด้วย แม้กระทั่งในเขตของตะพานหินก็มีสตรีทอาร์ตสวยๆ ตามแนวสะพานให้ได้ภ่ายภาพเช็คอินกันอีกด้วยค่ะซึ่งน่าสนใจมากค่ะ
ใครคิดว่าพิจิตรอยู่ไกลก็ไม่ไกลนะคะใกล้นิดเดียว แต่สิ่งที่น่าดูน่าชื่นชมอยู่ที่นั่นมากมาย ถ้าผ่านไปเมืองพิจิตรก็อย่าลืมแวะไปเที่ยวกันดูนะคะ”
 
ทั้งนี้ คุณสุชารัตน์ แสงอรุณ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานจังหวัดนครสวรรค์-พิจิตร กล่าวว่า “สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปเที่ยวสงกรานต์ทางภาคเหนือตอนล่าง ช่วงนี้จังหวัดนครสวรรค์เรามีเทศกาลและงานประเพณีด้วยค่ะ ซึ่งในวันที่ 6- 9 เมษายน เรามีกิจกรรม I like นครสวรรค์ ที่จะจัดขึ้นที่ “พาสาน” เป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะทำให้คนรู้จักนครสวรรค์มากขึ้น มีการการออกร้านแสดงสินค้าและตกแต่งสถานที่ด้วยไฟแสงสีที่สวยงาม นักท่องเที่ยวที่มาจะได้เห็น ความเป็นต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อกันว่าช่วงปีใหม่ของไทย คนที่เดินทางมาเที่ยวนครสวรรค์นี้จะได้รับน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเรามีแม่น้ำ 4 สายด้วยกันเรียกว่า “ปากมังกร” เป็นจุดที่จะได้รับความเป็นสิริมงคลกลับไป

หลังจากเดินทางไปนครสวรรค์เสร็จเรียบร้อยแล้วก็อยากจะเชิญชวนเดินทางต่อมายังจังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์นี้ เรามีแหล่งท่องเที่ยวมากมายสามารถเที่ยวได้ครึ่งเดือนเลยด้วยซ้ำ  โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 5-7 เมษายนนี้ เราจะมีงาน  “สรงน้ำพ่อปู่ บูชาศาลหลักเมือง”  และมีการจัดงานที่ “บึงสีไฟ” สงกรานต์ที่บึงสีไฟปีนี้แปลกใหม่มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อรองรับและต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวช่วงสงกรานต์ ซึ่งบึงสีไฟเป็นบึงน้ำจืดอันดับที่สามของประเทศไทย อยากเชิญชวนทุกคนมาที่นี่นะคะ สงกรานต์ไม่ต้องไปเที่ยวที่ไหนไกล เที่ยวใกล้บ้านเราก็อบอุ่น แหล่งท่องเที่ยวเมืองพิจิตรมี “หลวงพ่อเพชร” เป็นพระศักดิ์สิทธิ์ของชาวพิจิตรและคนที่อยู่ภาคเหนือตอนล่าง ไม่ว่าใครจะขอพรท่าเมตตาให้ทุกคนเลย โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์จะมีผู้มีจิตศรัทธามาไหว้ขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ หลวงพ่อเพชร หลวงพ่อโต หลวงพ่อเหลือ ให้มีเงินทองเหลือกินเหลือใช้หลวงพี่โตให้มีหน้าที่การงานใหญ่โต และในช่วงนี้จังหวัดพิจิตรยังมีผลไม้ขึ้นชื่อไม่ว่าจะเป็นมะม่วงข้าว มะยงชิด ซึ่งตอนนี้ออกสู่ตลาดรวมถึงผลไม้อื่นๆ เป็นพืชผลทางการเกษตรทึ่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดพิจิตรเป็นอย่างมาก
 
อยากจะเชิญชวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวสงกรานต์ในข่วงนี้ อย่าลืมแวะมาเที่ยวที่จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดพิจิตรของเราด้วยนะคะ หากผู้ใดสนใจท่องเที่ยวนครสวรรค์ – พิจิตร สามารถสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวโดยเข้าไปที่ Facebook : ททท.สำนักงานนครสวรรค์-พิจิตร ได้เลยค่ะ จะมีเจ้าหน้าที่คอยตอบคำถามให้กับนักท่องเที่ยว” คุณสุชารัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

………………………………………………

📍www.indyreport.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *