ช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ปีเถาะ 2566 “อปท.นิวส์โพล” กะเทาะใจคนไทย พบมองการเมืองติดลบเพราะเอาแต่แย่งชิงอำนาจไม่ทำงานเพื่อประชาชน อยากให้รีบยุบสภาเลือกตั้งใหม่ได้นายกรัฐมนตรีที่เป็นส.ส. มีฝีมือกอบกู้เศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวแต่ก็ยังมีความไม่แน่นอน ส่วนใหญ่เชื่อโควิด-19 หมดฤทธิ์เพราะเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ ผู้อำนวยการ อปท.นิวส์โพล และ รศ.ดร.ธนสุวิทย์ ทับหิรัญรักษ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ ร่วมแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ระหว่างวันที่ 17-24 ธันวาคม 2565 ภายใต้หัวข้อ “ ปีเถาะ – กะเทาะใจคนไทย 2566 ” โดยได้ออกแบบสอบถามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์พร้อมลงสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ตอบแบบสอบถามในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวน 1,524 ราย
บทสรุปของการทำโพลส่งท้ายปีครั้งนี้สามารถสะท้อนให้เห็นแนวคิดผู้ตอบแบบสอบถามทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ ความรู้สึกและความคาดหวังของประชาชน จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามถือว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนความคิดและความรู้สึกของประชาชน พบว่าผู้ให้คำตอบส่วนใหญ่มีการรับรู้ข่าวสารและมีการตื่นตัวมากขึ้นทั้งในเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจและติดตามข่าวสารบ้านเมืองมาตลอด
สิ่งที่เห็นพ้องตรงกันมากที่สุดยังคงเป็นเศรษฐกิจปากท้องของตนเองและครัวเรือน โดยสังเกตุได้จากคำถามว่าอยากให้รัฐบาลทั้งชุดปัจจุบันและชุดใหม่ที่กำลังเข้ามาบริหารประเทศให้ช่วยอะไรหรือความรู้สึกต่อสภาพเศรษฐกิจในปี 2565 เป็นอย่างไร มีผู้ตอบแบบสอบถามเฉลี่ยสูงเกินร้อยละ 50 ว่าอยากให้แก้ปัญหาค่าครองชีพและเศรษฐกิจครัวเรือน สอดคล้องกับความรู้สึกต่อสภาพเศรษฐกิจในรอบปีว่า “แย่” ถึงร้อยละ 61.3 ย่อมแสดงได้ชัดว่าการเมืองและเศรษฐกิจเป็นของคู่กันและส่งผลโดยตรงกับการทำงานของรัฐบาล
โดยเฉพาะการเมืองในช่วงเวลาสิ้นปีพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมีความรู้สึกในภาพลักษณ์การเมืองในทางลบถึงร้อยละ 58.1 ว่ามีเรื่อง “การแสวงหาอำนาจแย่งชิงผลประโยชน์” และนักการเมืองในสภาไม่มุ่งมั่นทำงานเพื่อประชาชน ผู้เก็บแบบสอบถามได้สัมภาษณ์เพิ่มเติมจากผู้ตอบแบบสอบถามพบว่าได้รับรู้ข่าวสารจากสื่อต่างๆและเฝ้าติดตามการทำงานของรัฐบาลและนักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรมาตลอดจึงสอดคล้องกับความคิดเห็นของผู้ให้คำตอบว่า อยากจะให้มีการ “ยุบสภา” และจัดการเลือกตั้งใหม่เพราะไม่สามารถคาดหวังรัฐบาลในชุดปัจจุบันถึงร้อยละ 71.8
ยิ่งกว่านั้นผู้ตอบคำถามเห็นพ้องตรงกันสูงถึงร้อยละ 51.8 คิดว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเพราะจะมีรัฐบาลชุดใหม่ และหากมีการเลือกตั้งครั้งหน้า “นายกรัฐมนตรีคนใหม่”ต้องมาจาก ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งและควรมีความรู้ความสามารถทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาค่าครองชีพในปัจจุบันทั้งราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งการลดภาษี เพิ่มเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามยังมีข่าวดีต้อนรับปีใหม่ว่าประชาชนพร้อมที่จะสู้กับโรคโควิด-19 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นพ้องตรงกันสูงร้อยละ 57 ตอบว่า โรคโควิด-19 จะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจมากนักเพราะเป็น “โรคประจำถิ่น”แล้ว แต่หากเกิดระบาดและมีผลทางเศรษฐกิจบ้างประชาชนยังยอมรับได้และพร้อมจะปรับตัวป้องกันตัวเองสูงถึงร้อยละ 54.5
สำหรับรายละเอียดคำถามและคำตอบสำคัญนั้น จากการสอบถามความคิดเห็นทางด้านการเมืองว่า “รู้สึกอย่างไรกับการเมืองไทยในรอบปี 2565” ส่วนใหญ่ร้อยละ 40.2 มองว่ามีการแสวงหาอำนาจแย่งชิงผลประโยชน์เป็นหลัก รองลงมาร้อยละ 17.9 ตอบว่านักการเมืองในสภาไม่มุ่งมั่นทำงานเพื่อประชาชน ส่วนความแตกแยกยังไม่ปรองดอง ผู้สอบถามตอบมีจำนวนถึงร้อยละ 16.6 และ พายเรือในอ่าง (วนอยู่กับเรื่องเดิมๆ ไม่พัฒนา) มีจำนวนร้อยละ 15.4 อย่างไรก็ตามมีผู้ตอบว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ร้อยละ 9.6
เมื่อถามว่า “รัฐบาลชุดปัจจุบันควรให้อะไรเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนในทางการเมือง” กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 41.1 ตอบว่าขอให้ยุบสภาทันทีและจัดการเลือกตั้งใหม่ รองลงมาร้อยละ 30.7 ตอบว่าไม่คาดหวังรัฐบาล ร้อยละ 11.2 ตอบว่าต้องการให้รัฐบาลปรับครม.เอาคนที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในเวลาที่เหลือ ร้อยละ 10.7 ตอบว่าอยากให้รัฐบาลสั่งข้าราชการให้ทำงานเต็ม 100 แต่ยังมีร้อยละ 6.3 ที่อยากให้รัฐบาลอยู่ให้ครบวาระจนถึงเดือนมีนาคม 2566
ถามต่อไปว่า “นายกรัฐมนตรีคนต่อไปควรมีคุณสมบัติข้อใดมากที่สุด” กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จำนวนร้อยละ 43.4 ตอบว่าเป็น ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง รองลงมาร้อยละ 33.7 ตอบว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถทางเศรษฐกิจ ถัดมาร้อยละ 10.6 ตอบว่าเป็นคนดีไม่โกงกิน ร้อยละ 6 ตอบว่าเป็นใครก็ได้ที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของสภา สุดท้ายร้อยละ 5.6 ต้องเป็นคนที่ไม่สร้างความแตกแยกทางการเมือง
ถามถึงรัฐบาลชุดใหม่คิดว่าจะมีหน้าตาอย่างไร กลุ่มตัวอย่างจำนวนร้อยละ 44.7 ตอบว่าคงเป็นรัฐบาลผสมไม่เกิน 3 พรรค รองลงมาร้อยละ 28.9 ตอบว่าจะมาจากพรรคการเมืองใหญ่พรรคเดียว ร้อยละ 14.8 ตอบว่าคงเป็นรัฐบาลผสมมากกว่า 3 พรรค และร้อยละ 11.6 ตอบว่าคงเป็นรัฐบาลผสมมากกว่า 3 พรรคและมีคนนอกเข้าร่วม
ข้อสุดท้ายในหมวดการเมืองถามว่า “รัฐบาลใหม่ควรทำเรื่องใดเป็นอันดับแรก” กลุ่มตัวอย่างจำนวนร้อยละ 39.3 ตอบว่าควรแก้ปัญหาค่าครองชีพและลดราคาสินค้า รองลงมาร้อยละ 19.6ตอบว่าควรปราบคอรัปชั่นในวงการราชการ ถัดมาร้อยละ 10.9 ตอบว่าควรเร่งสร้างงาน ปรับเพิ่มค่าจ้าง ร้อยละ 10.6 ตอบว่าควรกวาดล้างยาเสพติดที่แพร่ระบาด และร้อยละ 5.5 เห็นว่าควรผ่าตัดระบบการศึกษาที่ล้าสมัย
ในหมวดเศรษฐกิจเริ่มจากคำถามว่า “รู้สึกอย่างไรกับสภาพเศรษฐกิจในรอบปี 2565” กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จำนวนร้อยละ 61.3 ตอบว่ารู้สึกว่าแย่ รองลงมาร้อยละ 24.7 ตอบว่า รู้สึกว่าสภาพเศรษฐกิจขึ้นๆลงๆ แต่มีผู้ตอบจำนวนร้อยละ 7.2 ตอบว่าสภาพเศรษฐกิจรู้สึกว่าดีกว่าปี 2564 สุดท้ายร้อยละ 6.8 ตอบว่ารู้สึกว่าปกติ
ถามต่อไปว่า “คิดว่าโรคโควิด-19 จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในปี 2566 อย่างไรหรือไม่” กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 57 เห็นว่าไม่มีผลเพราะโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว รองลงมาร้อยละ 54.5 ตอบว่าจะยังระบาดแต่ไม่รุนแรงอาจมีผลทางเศรษฐกิจบ้าง ร้อยละ 35.3 ตอบว่าน่าจะมีวัคซีนใหม่ที่หยุดยั้งโควิด-19ได้ อย่างไรก็ตามร้อยละ 29.8 ตอบว่า ยังไม่มีความแน่นอน และผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนร้อยละ 21.2 เชื่อว่าโรคโควิด-19 จะกลับมาระบาดรุนแรงส่งผลกระทบมาก
ต่อคำถามที่ว่า “คิดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะเป็นอย่างไร” กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นร้อยละ 51.8 ตอบว่าคิดว่าดีขึ้นเพราะจะมีรัฐบาลชุดใหม่ รองลงมาร้อยละ 47.1 ตอบว่า ดีขึ้นเพราะเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว ร้อยละ 44.2 ตอบว่า ดีขึ้นแน่เพราะนักท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มกลับมาแล้ว ร้อยละ 36.5 ตอบว่าอาจจะแย่ลงได้หากได้รัฐบาลใหม่ที่ไร้ประสิทธิภาพ ร้อยละ 31.7 ตอบว่ายังไม่แน่นอนเพราะเศรษฐกิจโลกอาจผันผวน และร้อยละ 21.3 ตอบว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าน่าจะทรงตัวเหมือนปี 2565
สุดท้ายเมื่อถามว่า “รัฐบาลควรใช้นโยบายใดเพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนในปี2566” กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 80.1 ตอบว่าอยากให้รัฐบาลลดราคาน้ำมัน รองลงร้อยละ 79.9 อยากให้รัฐบาลลดค่าไฟฟ้า ร้อยละ 72.5 อยากให้รัฐบาลลดภาษี ร้อยละ 43.7 อยากให้รัฐบาลลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ร้อยละ 39 อยากให้รัฐบาลลดราคาก๊าซหุงต้ม นอกจากนั้นยังอยากให้รัฐบาลลดค่าเล่าเรียน ลดราคาเนื้อสัตว์ เพิ่มเงินดูแลคนชรา ฯลฯ
…………………………………………………………………………………………………………
📍www.indyreport.com