🔴 พระราชวังสนามจันทร์ พระราชวังแห่งความรักและความภักดี

 

…“พระราชวังสนามจันทร์”… เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ประทับใจทุกครั้งที่มีโอกาสได้ไปเยือนที่นี่ และสัมผัสได้ถึงความรักความผูกพันของ “พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว” ที่มีต่อสถานที่แห่งนีี้ ซึ่งมีเรื่องราวความทรงจำเกี่ยวกับความรักและความซื่อสัตย์ของสิ่งมีชิวิตเล็กๆ ที่เรียกว่าสุนัขชื่อ “ย่าเหล” อบอวลอยู่ “พระราชวังสนามจันทร์” ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ประมาณ 2 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 888 ไร่ 3 งาน 4 ตารางวา หลังจากพระองค์สวรรคตพระราชวังสนามจันทร์ใช้เป็นที่ทำการของส่วนราชการต่างๆ ของจังหวัดนครปฐม รวมทั้งเป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบัน พระราชวังสนามจันทร์อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักพระราชวัง…

 

…นอกจากความงามของอาคารสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่่งดงามทรงคุณค่าของ “พระราชวังสนามจันทร์” ที่ประทับใจแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ประทับใจนั่นก็คือเรื่องราวความรักความซื่อสัตย์ของสุนัขที่มีต่อเจ้าของ นั่นคือ “ย่าเหล” สุนัขทรงเลี้ยงของ “พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว”นั่นเอง “ย่าเหล”เป็นสุนัขพันธุ์ไทยธรรมดาๆ เหมือนสุนัขทั่วไปแต่ทว่าหัวใจนั้นไม่ธรรมดาเลย ถึงขนาดมีอนุสาวรีย์ตั้งเป็นอนุสรณ์อยู่ที่นี่ และที่สำคัญก็คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์คำกลอนไว้อาลัย “ย่าเหล”ประดับไว้ที่ฐานอนุสาวรีย์แห่งนี้ด้วย…

 

 

 

…“พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”… โปรดฯ ให้สร้างพระราชวังสนามจันทร์ขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช 2450 เพื่อเป็นสถานที่ประทับครั้งมานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์และเมื่อบ้านเมืองถึงยามวิกฤต พระราชวังใช้เวลาก่อสร้างนาน 4 ปี โดยมีหลวงพิทักษ์มานพ (น้อย ศิลป์) ซึ่งต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศเป็น “พระยาวิศุกรรม ศิลปประสิทธิ์ ”  เป็นแม่งานและสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2454 เมื่อสร้างแล้วเสร็จจึงได้พระราชทานนามว่า “พระราชวังสนามจันทร์” ตามชื่อสระน้ำโบราณหน้าโบสถ์พราหมณ์(ปัจจุบันไม่มีโบสถ์พราหมณ์เหลืออยู่แล้ว) สระน้ำจันทร์ หรือ สระบัว บริเวณพระราชวังแห่งนี้ มีพระที่นั่งและพระตำหนักต่างๆ มากมาย อาทิ พระที่นั่งพิมานปฐม พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี พระที่นั่งวัชรีรมยา และพระที่นั่งสามัคคีสุขมาตย์ ส่วนพระตำหนักก็มี พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนักทับขวัญ พระตำหนักทับแก้ว พระตำหนักมาลีราชรัตนบัลลังก์ เป็นต้น  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ เสด็จประทับที่พระราชวังสนามจันทร์เป็นประจำ ทรงจัดการซ้อมรบกองเสือป่าที่พระองค์เป็นผู้ให้กำเนิดขึ้นที่พระราชวังสนามจันทร์อยู่เสมอ คราวหนึ่งที่กำลังมีการซ้อมรบกองเสือป่าในพระราชวังสนามจันทร์นี่เอง เรื่องราวของ “ย่าเหล” สุนัขทรงโปรดก็เริ่มขึ้น…

 

 

…“พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”… ทรงประทับเป็นประธานในการซ้อมรบ ในขณะที่พระองค์กำลังเสด็จพระราชดำเนินตรวจพลกองเสือป่าอยู่นั้น ก็ปรากฏว่ามีสุนัขตัวหนึ่งมีสีขาวดำด่างวิ่งฝ่าผู้คนและพลเสือป่าตรงไปยังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วคลอเคลียอยู่ที่พระบาท ไม่ว่าทหารรักษาพระองค์จะพากันไล่อย่างไรสุนัขตัวนั้นก็หายอมไปไม่ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดสุนัขตัวนี้ จึงทรงนำมาเลี้ยงและตั้งชื่อว่า “ย่าเหล” ตังแต่วันนั้นเป็นต้นมา…

…ตามประวัตินั้นปรากฏว่า… “ย่าเหล” … เป็นสุนัขพันธุ์ทาง เพศผู้ ขนปุย หางเป็นพวง สีขาว มีแต้มดำ หูตก เกิดในเรือนจำจังหวัดนครปฐม เดิมเป็นสุนัขของ หลวงไชยราษฎร์รักษา (โพ เคหะนันทน์) ตำแหน่งพะทำมะรงหรือผู้ควบคุมนักโทษ (ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระพุทธเกษตรานุรักษ์) เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังดำรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้เสด็จฯ ไปตรวจเรือนจำจังหวัดนครปฐม และทอดพระเนตรเห็นสุนัขตัวนี้และตรัสชมว่า เป็นสุนัขที่สวยงามน่ารักน่าเอ็นดูน่าเชื่อว่าในครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้พบย่าเหลเป็นวันแรกนั้น ย่าเหลคงได้ใกล้ชิดพระยุคลบาทและจดจำพระองค์ได้ตั้งแต่วันนั้น จึงได้วิ่งฝ่ากองพลเสือป่าและประชาชนที่มาชมการซ้อมรบ ไปหาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวดังกล่าว หลวงไชยราษฎร์รักษาจึงน้อมเกล้าฯ ถวาย พระองค์จึงทรงรับมาเลี้ยง และพระราชทานนามว่า “ย่าเหล”

 

 

…สำหรับชื่อย่าเหลนั้น พระองค์ทรงตั้งจากชื่อตัวละครเอก เอมิล ยาร์เลต์ (Emile Jarlet) จากบทละครฝรั่งเศสเรื่อง “ My friend Jarlet ”  ซึ่งได้ทรงพระราชนิพนธ์แปลเป็นบทละครภาษาไทย ชื่อ “ มิตรแท้ ” และยังทรงพระราชนิพนธ์ละครพูดเรื่อง“ เพื่อนตาย ” ตามเค้าโครงภาษาอังกฤษด้วย

 

 

…นับตั้งแต่… “ย่าเหล”ได้มาอยู่ใกล้ชิดพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ก็ปรากฏว่าเป็นที่โปรดของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จไป ณ ที่ใด ย่าเหลจะตามเสด็จโดยใกล้ชิดทุกครั้ง ในเวลาที่พระองค์ทรงพระอักษรหรือเสวยพระกระยาหารอยู่ในพระตำหนักที่พระราชวังสนามจันทร์ ย่าเหลก็จะหมอบเฝ้าอยู่ใกล้พระบาทไม่ไปวิ่งเล่นที่ไหนเลย มีเรื่องเล่าว่าวันหนึ่งย่าเหลได้วิ่งตามพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปในงานพระราชพิธีแห่งหนึ่งโดยย่าเหลวิ่งนำหน้าไปเรื่อยๆ ปรากฏว่ามีมหาดเล็กคนหนึ่งยืนไม่เรียบร้อย ย่าเหลจึงตรงเข้าไปแสดงท่าจะกัดมหาดเล็กคนนั้นทันที คล้ายๆ กับเป็นการเตือนให้นึกถึงระเบียบวินัย เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบก็โปรดย่าเหลเป็นอันมาก เพราะเป็นสุนัขแสนรู้จริง ๆ และยังมีวีรกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่ย่าเหลได้ทำให้พระองค์และหลายคนประจักษ์ถึงความรักความซื่อสัตย์แสนรู้ของย่าเหล…

 

 

…การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรักและเมตตาย่าเหลมากนี่เอง ทำให้มีบางคนเกลียดและอิจฉาริษยาย่าเหลยิ่งนักถึงกับลอบทำร้ายย่าเหล วาระสุดท้ายของย่าเหลมาถึง “โดยการถูกลอบยิงจนตาย” ในวันนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จด้วยรถยนต์พระที่นั่งไปในงานพระราชพิธีแห่งหนึ่ง ย่าเหลพยายามจะขึ้นไปบนรถพระที่นั่งเพื่อตามเสด็จด้วยแต่ทว่ารถพระนั่งออกไปเสียก่อน เมื่อพระองค์เสด็จกลับมาถึงที่ประทับก็ได้พบร่างของย่าเหลถูกยิงตายเสียแล้ว และไม่สามารถจับคนร้ายที่อิจฉาแม้กระทั่งหมาคนนี้ได้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโทมนัสเป็นอันมาก โปรดฯ ให้จัดงานศพของย่าเหลขึ้นอย่างใหญ่โต โดยให้มหาดเล็กแต่งกายเป็นรูปสัตว์ชนิดต่างๆ ช่วยกันเข้าขบวนหามศพย่าเหลไปเผา

 

หลังจากเผาศพย่าเหลแล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ย่าเหลขึ้น โดยหล่อรูปย่าเหลด้วยทองประดิษฐานอยู่บนแทนสูงตั้งไว้ ณ หน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์พระราชวังสนามจันทร์ สืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้

 

 

 

 

…พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอาลัยรักย่าเหลเป็นอันมาก ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำกลอนไว้อาลัยย่าเหล และต่อมาโปรดฯ ให้จารึกไว้ในแผ่นทองแดงนำไปประดับไว้ที่แท่นอนุสาวรีย์ย่าเหล มีใจความว่า:-

 

 

๏ อนุสาวรีย์นี้เตือนจิตร์                               ให้กูคิดรำพึงถึงสหาย

โอ้อาไลยใจจู่อยู่ไม่วาย                                กูเจ็บคล้ายศรศักดิ์ปักอุรา

ยากที่ใครเขาจะเห็นหัวอกกู                         เพราะเขาดูเพื่อนเห็นแต่เป็นหมา

เขาดูแต่เปลือกนอกแห่งกายา                    ไม่เห็นฦกตรึกตราถึงดวงใจ

เพื่อนเป็นมิตร์ชิดกูอยู่เนืองนิตย์                  จะหามิตร์เหมือนเจ้าที่ไหนได้

ทุกทิวาราตรีไม่มีไกล                                    กูไปไหนเจ้าเคยเป็นเพื่อนทาง

ช่างจงรักภักดีไม่มีหย่อน                             จะนั่งนอนยืนเดินไม่เหินห่าง

ถึงยามกินเคยกินกับกูพลาง                       ถึงยามนอนๆ ข้างไม่ห่างไกล

อันตัวเพื่อนเหมือนมนุษสุจริต                     จะผิดอยู่แต่เพียงพูดไม่ได้

แต่เมื่อกูใคร่รู้ความในใจ                             กูมองดูรู้ได้ในดวงตา

โอ้อกกูดูเพื่อนอยู่หรัดๆ                               เพื่อนมาพลัดพรากไปไม่เห็นหน้า

กูเผลอๆ ก็เชง้อเผื่อเพื่อนมา                       เสียงกุกกักก็ผวาตั้งตามอง

อันความตายเป็นธรรมดาโลก                    กูอยากตัดความโศรกกระมลหมอง

นี่เพื่อนตายเพราะผู้ร้ายมันมุ่งปอง             เอาปืนจ้องสังหารผลาญชีวี

เพื่อนมอดม้วยด้วยมือทุรชน                      เอารูปคนสรวมใส่คลุมใจผี

เป็นคนจริงฤๅจะปราศซึ่งปรานี                  นี่รากษสอัปปรีปราศเมตตา

มันยิงเพื่อนเหมือนกูพลอยถูกด้วย           แทบจะม้วยชีวังสิ้นสังขาร์

จะหาเพื่อนเหมือนเจ้าที่ไหนมา                 ช้ำอุราอาไลยไม่วายวัน

เมื่อยามมีชีวิตร์สนิทใจ                              ยามบรรไลยลับล่วงดวงใจสั่น

ด้วยอำนาจจงรักภักดีนั้น                          ขอให้เพื่อนขึ้นสวรรค์สำราญรมย์

ถึงจะมีหมาอื่นมาแทนที่                            กูก็รักเพื่อนนี้เป็นปฐม

ที่ไหนเล่าจะสนิทและชิดชม                      ที่ไหนเล่าจะนิยมเท่าเพื่อนรัก

ถึงแม้จะไม่มีรูปนี้ไว้                                  รูปเพื่อนฝังดวงใจกูตระหนัก

แต่รูปนี้ไว้เป็นพยานรัก                            ให้ประจักษ์แก่คนผู้ไมตรี

เพื่อนเป็นเยี่ยงอย่างมิตร์สนิทยิ่ง            ภักดีจริงต่อกูอยู่เต็มที่

แม้คนใดเป็นได้อย่างเพื่อนนี้                  ก็ควรนับว่าดีที่สุดเอย…

…คำจารึกอยู่ที่แท่นอนุสาวรีย์ย่าเหล… ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้น่าจะเป็นคติเตือนใจผู้คนทั่วไปให้ระลึกได้ว่า ในชาตินี้เมื่อเกิดเป็นคนก็ควรจะทำดีเพราะแม้แต่สุนัขก็ยังมีอนุสาวรีย์แห่งความดีปรากฏมาจนบัดนี้ เรื่องของ “ย่าเหล” เป็นเรื่องราวที่ประทับใจและสะเทือนใจสำหรับคนรักสัตว์คนรักสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ยิ่งนัก อยากให้ทุกคนตระหนักว่าไม่ว่าคนหรือสัตว์ก็มีหัวใจเหมือนกัน ต้องการความรักความเมตตาที่หยิบยื่นให้แก่กัน เหมือนดังคำที่ว่า “เมตตาธรรมค่ำจุนโลก” เมื่อมนุษย์ในโลกนี้มีเมตตาธรรม ก็จะไม่มีการคิดเบียดเบียนรังแกคนอื่น ไม่คิดอยากได้ในสิ่งที่ไม่ใช่ของตน มีการช่วยเหลือเจือจุนกันทั่วโลก ประเทศเจริญแล้วช่วยประเทศด้อยพัฒนา ประเทศร่ำรวยช่วยประเทศยากจน ฯลฯ โลกก็จะสงบสุขไม่เกิดสงครามอีกต่อไป…

 

 

 

…พระราชวังสนามจันทร์… เปิดให้เข้าชมเฉพาะ วันอังคาร- พฤหัสบดีเสาร์ เวลา 9.00-16.00 น. มีอาณาเขตกว้างขวางประกอบด้วยสนามใหญ่อยู่กลาง มีถนนโอบเป็นวงโดยรอบและ มีคูน้ำล้อมอยู่ชั้นนอก ส่วนพระที่นั่งต่างๆ นั้นรวมกันอยู่ส่วนกลางของพระราชวังเท่าที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน…

 

 

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

พระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ประมาณ 2 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 888 ไร่ 3 งาน 4 ตารางวา สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากพระองค์สวรรคต พระราชวังสนามจันทร์ใช้เป็นที่ทำการของส่วนราชการต่าง ๆ ของจังหวัดนครปฐม รวมทั้ง เป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบัน พระราชวังสนามจันทร์อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักพระราชวัง
พระราชวังสนามจันทร์เป็นพระราชวังที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบนบริเวณที่คาดว่าเป็นพระราชวังเก่าของกษัตริย์สมัยโบราณที่เรียกว่า เนินปราสาท เพื่อเป็นสถานที่ประทับครั้งมานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์และเมื่อบ้านเมืองถึงยามวิกฤต
พระราชวังใช้เวลาก่อสร้างนาน 4 ปี โดยมี หลวงพิทักษ์มานพ (น้อย ศิลป์) ซึ่งต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯเลื่อนยศเป็นพระยาวิศุกรรม ศิลปประสิทธิ์ เป็นแม่งาน และสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2450 เมื่อสร้างแล้วเสร็จจึงได้พระราชทานนามว่า “พระราชวังสนามจันทร์” ตามชื่อสระน้ำโบราณหน้าโบสถ์พราหมณ์ (ปัจจุบันไม่มีโบสถ์พราหมณ์เหลืออยู่แล้ว) สระน้ำจันทร์ หรือ สระบัว
#indyloveเช็คอิน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *