🔴 ระดมสมองก่อนสรุปแผนแม่บทแร่ฉบับ 2 ชี้เขียนให้ชัดพื้นที่ทำเหมือง-สิ่งแวดล้อม

         สมาคมสินแร่-ธรณีวิทยาฯ ร่วมถกโค้งสุดท้ายแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับ 2 ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนสิ้นปี  เผยทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องเขียนให้ชัดเพื่อง่ายต่อการปฏิบัติ เชื่ออุตสาหกรรมเหมืองแร่ร่วมทางเดินกับเกษตรกรรมได้

 ดร.วิจักษ์​ พงษ์เภตรา (ที่2จาก​ขวา) ​และดร.สมหมาย​ เตชวาล (ที่2จากซ้าย)​        

ดร.วิจักษ์ พงษ์เภตรา  นายกสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง  และ ดร.สมหมาย เตชวาล นายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย  ได้ร่วมจัดการเสวนาเรื่อง “โค้งสุดท้าย…ความเห็นก่อนตกผลึกแผนแม่บทแร่ ฉบับที่ 2” ณ อาคารเภตรา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา  โดยมีวิทยากรที่เข้าร่วมการเสวนาทางระบบ Zoom Meeting ประกอบด้วย ผศ.ดร.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ อดีตหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ดร.เพชญ์ ภัคโชตานนท์ ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายโองการ ยาสิงห์ทอง นายช่างสำรวจอาวุโส สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) จังหวัดร้อยเอ็ด  และนายพรสิทธิ์ ด่านวนิช กรรมการสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง

         ผศ.ดร.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ กล่าวว่า  สังคมไม่ค่อยเห็นต้นทางการทำเหมือง เห็นแต่ปลายทางที่เป็นผลผลิตจึงไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริง  ปัญหาการจัดสรรพื้นที่ที่จำกัด พื้นที่ทำเหมืองน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ทำการเกษตรทั่วประเทศ  สังคมมองว่าเหมืองแร่เป็นแค่ประโยชน์ต่อคนกลุ่มเล็ก แต่แท้จริงนั้นผลผลิตจากเหมืองเป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มใหญ่  ความจริงเหมืองแร่เป็นกิจกรรมชั่วคราว เมื่อทำเสร็จแล้วสามารถกลับคืนสู่สังคมเป็นแหล่งน้ำเป็นพื้นที่ป่าไม้ได้

         การกำหนดพื้นที่แหล่งแร่  เมื่อแร่หมดเอาไปทำอย่างอื่นได้เป็น Positive  แต่ตอนนี้สงวนเอาไว้ไม่กำหนดให้ชัดเจนกลายเป็น Negative  เมื่อเกิดกิจกรรมแร่จะเกิดผลทวีคูณ เกิดการกระจายรายได้ การจ้างงาน เกิดการพัฒนาพื้นที่  ต้องมีมาตรการดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ต้องชัดเจน แต่ตอนนี้ยังไม่ชัดเจน

         อดีตหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียมกล่าวด้วยว่า  การบริหารจัดการแร่ต้องแบ่งเป็น 3 ช่วงคือ 1.ก่อนทำเหมือง มีการกำหนดพื้นที่แหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง  2.ระหว่างทำต้องวางมาตรการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม จัดสรรประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม 3.ภายหลังปิดเหมืองต้องกำหนดอนาคตล่วงหน้าว่าจะคืนสู่สังคมอย่างไร  จะเป็นแหล่งน้ำ แหล่งท่องเที่ยว หรืออื่นใด

         “แร่จะมีประโยชน์และมีคุณค่าในขณะที่โลกต้องการ  เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปมีผลให้ความต้องการเปลี่ยน  แร่นั้นก็อาจไร้ค่า ดังนั้นต้องเปลี่ยนมุมมองวิธีคิดในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรแร่เอาไว้นานๆเพื่อให้คนรุ่นหลังใช้”ผศ.ดร.ฐิติศักดิ์กล่าว

         ดร.เพชญ์ ภัคโชตานนท์ กล่าวว่า  การทำเหมืองแร่มักจะมีปัญหาด้านฝุ่นละอองซึ่งส่งผลต่อสุขภาพทั้งคนในเหมืองและชุมชนรอบด้าน  ได้เคยศึกษากรณีตัวอย่างการขนส่งถ่านหินพบว่าหากมีการบริหารจัดการที่ดีก็สามารถลดผลกระทบเหล่านี้ได้มาก  อาทิ การสเปรย์น้ำจะช่วยลดปัญหาฝุ่นลงได้มากถึง 90% หรือการปลูกต้นไม้ก็สามารถช่วยลดปัญหาการพัดพาฝุ่นลงได้

        เหมืองแร่ต้องให้ความสำคัญเรื่อง Biodiversity management หรือการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ    คือการป้องกันความเสียหายและลดผลกระทบเชิงลบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เหมืองหลายแห่งสามารถยกระดับงานฟื้นฟูเหมืองควบคู่กับการอนุรักษ์ได้เป็นอย่างดี  เช่นบางแห่งมีการนำน้ำในเหมืองกลับมาใช้ใหม่โดยไม่มีปัญหา บางแห่งมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชน หรือศูนย์กีฬาเพื่อสุขภาพ

         นายโองการ ยาสิงห์ทอง   ซึ่งมีความใกล้ชิดเกษตรกรให้ความเห็นว่าควรมีการกำหนดให้ชัดเจนเรื่องการทำเหมือง  หลังจากทำเหมืองแล้วจะมีสภาพเป็นอย่างไร หากมีหลักธรรมาภิบาลมีหลักคุณธรรม เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมมากขึ้น  เชื่อว่าอุตสาหกรรมเหมืองแร่กับภาคการเกษตรสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างดี เพราะเหมืองจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชนนอกจากงานและรายได้ในภาคเกษตร  

         เหมืองที่จังหวัดศรีสะเกษพิสูจน์ให้เห็นว่าเอาน้ำจากเหมืองมาช่วยภาคเกษตรได้  ถ้าบริหารจัดการให้ดีเหมืองจะเป็นแหล่งน้ำ แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ หรือแหล่งท่องเที่ยวได้  ที่เขียนไว้ในร่างแผนฯ2 ว่าจะมั่งคั่ง ยั่งยืนนั้นยังกว้างเกินไป ดูแล้วยังขาดความชัดเจน

         นายพรสิทธิ์ ด่านวนิช กล่าวในฐานะผู้ประกอบการเหมืองว่า  ความไม่ชัดเจนในนโยบายการจำแนกพื้นที่เพื่อการทำเหมืองทำให้ภาคเอกชนต้องรอเวลามานานหลายปี  ความจริงแล้วผู้ประกอบการเหมืองที่ดีมีความตั้งใจทุ่มเทให้กับชุมชนใกล้เคียงมาก การที่ต้องบริหารจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้คิดว่าเป็นภาระหรือเพิ่มต้นทุน  ปัจจุบันผู้ประกอบการต่างเห็นพ้องว่าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม เช่นเดียว กับการดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

         อนึ่ง คณะทำงานจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม มีกำหนดจัดประชุมเวทีสาธารณะ(Public Hearing) เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2(พ.ศ.2565-2569) ในวันอังคารที่ 21 ธันวาคม 2565 เวลา 09.00-12.00 น. ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting

..………………………………………………….

📍www.indyreport.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *