🔴 เปิดทรรศนะนักอนาคตศาสตร์ไทย “ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ชี้ไทย-เวียดนาม ต้องโตไปด้วยกัน พร้อมเสนอกลยุทธ์ 10 ชาติอาเซียนต้องร่วมมือ

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา “เวียดนาม” กลายเป็นประเทศที่นักเศรษฐกิจและสังคมต่างลงความเห็นว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงในหลายมิติทั้งด้านการศึกษา การลงทุน การขยายตัวของเมือง รวมทั้งความก้าวหน้าทางนวัตกรรมจนมีคนคาดว่า ในอนาคตอันใกล้ “เวียดนาม” จะก้าวแซงไทยและกลายเป็นดาวเศรษฐกิจดวงใหม่ที่น่าจับตาที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเด็นดังกล่าว หลายภาคส่วนได้วิเคราะห์และคาดการณ์ไว้ว่านี่อาจเป็นสัญญาณที่กำลังบ่งบอกให้ “ประเทศไทย” ต้องเร่งเครื่องก้าวต่อไปให้ไกลมากขึ้น เพื่อรักษาความได้เปรียบในหลายบริบท โดยเฉพาะ “องค์ความรู้ด้านนวัตกรรม”

สำหรับประเด็นดังกล่าว ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ในฐานะหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านอนาคตศาสตร์ของไทย ได้นำเสนอทรรศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เราไม่ควรเปรียบเทียบการพัฒนานวัตกรรมของไทย-เวียดนามในเชิงแข่งขัน เนื่องจากแต่ละประเทศมีบริบทและจุดเด่นแตกต่างกันออกไป สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญต่อจากนี้ก็คือ การร่วมมือกันระหว่างกลุ่มประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย เนื่องจากอาเซียนมีประชากรถึง 655.9 ล้านคน (ข้อมูลปี 2562) มากเป็นลำดับ 3 ของโลก รองจากจีน และอินเดีย และมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่ามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 5 ของโลก รองจากสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และเยอรมนี ตามลำดับ

ฉะนั้น หากเราร่วมมือกันก็จะสามารถสร้างให้ระบบนวัตกรรมและเศรษฐกิจในภูมิภาคมีความแข็งแกร่งและหลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถแข่งขันกับประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมของโลกได้ และหากมองในมุมการทำธุรกิจ ประเทศเวียดนามก็ต้องการที่จะเข้ามาทำธุรกิจที่ประเทศไทย และกลุ่มสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี หรือบริษัทขนาดใหญ่ของไทยก็ต้องการที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนามเช่นกัน ซึ่งไทยเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 9 ใน 132 ประเทศที่ลงทุนในเวียดนาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยลงทุนในเวียดนามมากถึง 10.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในไตรมาสแรกของปี 2020 นักลงทุนไทยได้เพิ่มเงินทุนในตลาดเวียดนามถึง 43.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น บริบทของการทำนวัตกรรมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจึงควรเป็นการเกื้อหนุนกันและกันมากกว่าการแข่งขัน หากเวียดนามโต ไทยก็โตไปด้วยกัน และหากสามารถทำได้เชื่อว่าอาเซียนจะกลายเป็นแหล่งระบบเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายสามารถดึงดูดนักลงทุนจากซีกโลกอื่นให้เข้ามาลงทุน หรือเลือกกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นฐานการผลิตหลัก ซึ่งจะทำให้อาเซียนมีความคล้ายคลึง และเปรียบเสมือนยุโรปแห่งที่สองของทวีปเอเชียได้ในอนาคต


ดร.พันธุ์อาจ
กล่าวเสริมว่า จุดเด่นของเวียดนาม ณ ตอนนี้ คือการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตหลัก โดยมีปัจจัยมาจากต้นทุนแรงงานที่ค่อนข้างต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 132-190 บาท/วัน มีสัดส่วนประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานมากถึง 63 ล้านคน มีภูมิประเทศที่ออกสู่ทะเลได้ทุกทิศทาง เหมาะแก่การขนส่งสินค้าทางทะเล รวมไปถึงด้านบนมีอาณาเขตติดกับประเทศจีนโดยตรงส่งผลให้ระบบโลจิสติกส์ค่อนข้างสะดวก ประกอบกับการปรับโครงสร้างพื้นที่ของระบบห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global value Chain) ที่ทำให้หลายประเทศย้ายฐานการผลิตออกจากจีนและหันมาซบเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามมีข้อตลงทางการค้ากับต่างประเทศที่ช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงความเข้าใจและความคืบหน้าเพื่อหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership: CPTPP) และ ความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EU-Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA) ที่มีการยกเว้นภาษีนำเข้าให้กับสินค้ากว่า 98% ที่ส่งออกไปยังประเทศสมาชิก และลดภาษีศุลกากรกว่า 99% ระหว่างกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและเวียดนามนานกว่า 10 ปี รวมไปถึงกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและยังไม่เข้มงวดเท่าไทย อาทิ กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ปัจจัยเหล่านี้ถือว่าเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ดึงให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเวียดนาม

หากเปรียบเทียบตอนนี้เวียดนามเหมือนไทยเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ก่อนเริ่มมีการลงทุนจากต่างประเทศ การที่มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในเวียดนามทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างก้าวกระโดด และถือเป็นโอกาสในการวางโครงสร้างพื้นฐานและก้าวไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมขั้นสูงได้ แต่หากมองลึกลงไปจะเห็นว่าเวียดนามไม่ได้มีบริษัทขนาดใหญ่เป็นของตัวเองมากนัก ส่วนมากจะเป็นการเข้ามาตั้งบริษัทของต่างชาติ และใช้เวียดนามให้เป็นฐานการผลิตต้นทุนต่ำ โดยเฉพาะการผลิตสินค้าไฮเทค กรณีดังกล่าวส่งผลให้เวียดนามเกิดการเรียนรู้จนสามารถนำความรู้ไปพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีและผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีขึ้นมาใช้ในประเทศได้สำเร็จ สำหรับตนมองว่าไทยและเวียดนามอยู่คนละบริบทที่จะนำมาเปรียบเทียบกัน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยรายได้บ่งชี้ต่อหัวของประชากร โดยไทยอยู่ที่ประมาณ 7,769 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี หรือประมาณ 236,558 บาทต่อคนต่อปี เวียดนามอยู่ที่ 2,524 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี หรือประมาณ 76,864 บาทต่อคนต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจการจับจ่ายเพื่อดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยยังคงสูงกว่าเวียดนาม ส่งผลให้ไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper middle income country) ด้านเวียดนามจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับต่ำ (lower middle income country)

ดร.พันธุ์อาจ อธิบายต่อว่า ความสามารถนวัตกรรมไทย-เวียดนามในช่วงที่ผ่านมามีการไต่ระดับความสามารถอย่างต่อเนื่อง จากการจัดอันดับดัชนีตัวชี้วัดความสามารถทางนวัตกรรม (GII) ของประเทศทั่วโลก 131 ประเทศ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาไทยไต่ระดับได้ถึง 9 อันดับจากอันดับที่ 52 ในปี 2016 สู่อันดับที่ 44 ในปี 2020 ส่วนเวียดนามมีการไต่ระดับความสามารถทางนวัตกรรมขึ้นมา 16 อันดับจากอันดับที่ 59 เป็นอันดับที่ 42 ในปี 2020 ส่วน “บลูมเบิร์ก” ก็มีการจัดอันดับนวัตกรรม Bloomberg Innovation Index (BII) รวม 60 กว่าประเทศเช่นกัน ในปี 2020 พบว่า ไทยตีตื้นขึ้นมาจากลำดับที่ 40 สู่ลำดับที่ 36 ส่วนเวียดนามนั้นอยู่ลำดับที่ 55 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยที่ส่งผลให้ความสามารถทางนวัตกรรมของเวียดนามเติบโตอย่างก้าวกระโดด คือ ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าไฮเทคซึ่งกว่า 40% มาจากเป็นฐานการผลิตของต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยเองก็มีความโดดเด่นทางนวัตกรรมไม่แพ้กัน โดยเฉพาะผลผลิตที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมีอันดับการเติบโตทางนวัตกรรมดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไทยมีการส่งออกสินค้าความคิดสร้างสรรค์ อาทิ งานศิลป์ ภาพยนตร์ ละคร บริการด้านข้อมูล คอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม นอกจากนี้ ประเทศไทยยังวางเป้าหมายการพัฒนาประเทศ เพื่อยกระดับนวัตกรรมด้วยการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมไทยให้มีโอกาสออกไปลงทุนในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ทั้งสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี แลบริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงการสร้างตลาดนวัตกรรมภายในประเทศ เพราะ NIA มองว่าไทยเองสามารถเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่พึ่งพาตนเองได้

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทุนมนุษย์และงานวิจัยเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะนำไปสู่การเพิ่มระดับความสามารถทางนวัตกรรม โดยไทยและเวียดนามต่างก็ให้ความสำคัญในบริบทดังกล่าวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงระบบการศึกษาของประเทศ สำหรับเวียดนามมีความโดดเด่นในการพัฒนาคุณภาพของประชากรในภาคการศึกษา โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระบบเศรฐกิจที่กำลังจะเปลี่ยนไปสู่บริบทใหม่ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการยกระดับทักษะและความเชี่ยวชาญของประชากรเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมถึงการพัฒนาด้านภาษาที่ 2 และ 3 ซึ่งปัจจุบันคนเวียดนามสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ค่อนข้างดี จึงถือเป็นเรื่องที่ได้เปรียบค่อนข้างมาก ส่วนประเทศไทยเน้นการเตรียมความพร้อมพัฒนาคนเพื่อก้าวเข้าสู่ยุคแรงงาน 4.0 โดยการสร้างคนให้มีทักษะและความรู้ขั้นสูง ทั้งการรีสกิล (Reskill) อัพสกิล (Upskill) และมัลติสกิล (Multiskilling) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมถึงการเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนสำหรับการก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่อยู่ในช่วงมหาวิทยาลัยผ่านโครงการต่าง ๆ ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นสิ่งที่ NIA ได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง

#########################################################

📍www.indyreport.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *